หมอหมู วีระศักดิ์ เตือน PM 2.5 เพิ่มเสี่ยงยีนกลายพันธุ์ นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้

วันที่ 7 ธ.ค. 2566 เวลา 15:09 น.

วันนี้ (7 ธ.ค. 66) หมอหมู หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้โพสต์เฟซบุ๊กโพสต์เตือน PM 2.5 เพิ่มเสี่ยงยีนกลายพันธุ์ นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้ โดยหมอหมูได้โพสต์ระบุข้อความว่า PM 2.5 เพิ่มเสี่ยงยีนกลายพันธุ์ นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้ จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มะเร็งปอดถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับ 2 ของคนไทย (มะเร็งตับและถุงน้ำดี เป็นอันดับ 1) โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 คน หรือคิดเป็น 40 คนต่อวัน จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า มีปัจจัยในชีวิตประจำวันหลายด้านที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด ขณะที่ PM2.5 ก็กำลังทวีความรุนแรงและกลายมาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 แล้วกว่า 71,184 ราย (สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม) โดยฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถลอยเข้าไปในหลอดลมจนถึงปอดได้โดยที่เราไม่รู้สึกตัว ส่งผลให้ปอดเกิดอาการอักเสบ การเผยแพร่ข้อมูลใหม่จากการศึกษาวิจัยในงานประชุมวิชาการทางการแพทย์นานาชาติ European Society for Medical Oncology (ESMO) ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ระบุว่ามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของยีนชนิด EGFR และ KRAS ในเซลล์ระบบทางเดินหายใจซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้ PM 2.5 สามารถเพิ่มการเกิดมะเร็งปอดได้ 1-1.4 เท่า มะเร็งปอดจะมีทั้งหมด 4 ระยะหลัก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจพบเจอในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายหรือในสภาวะที่โรคลุกลามแล้ว ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แม้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยง PM2.5 ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การหมั่นดูแลตัวเองเป็นประจำ ด้วยการ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งขณะฝุ่นหนาแน่น ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิดขณะอยู่ภายในตัวอาคาร หมั่นตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น