ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา จำเลย แตกต่างกันอย่างไร?
วันที่ 6 ธ.ค. 2566 เวลา 16:45 น.
ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา จำเลย แตกต่างกันอย่างไร? กฎหมายวันนี้ จะมาเล่าเรื่องสถานะต่าง ๆ ของผู้กระทำความผิด ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินหรือได้อ่านผ่านข่าวมาแล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา และจำเลย ว่า 3 สถานะนี้แตกต่างกันยังไง ผู้ต้องสงสัย คือคนที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ถูกพาดพิงถึง หรือการถูกซัดทอด หรือสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผู้กระทำความผิด แต่เป็นเพียงการสงสัยเท่านั้น ยังไม่มีผลใดในทางกฎหมาย อาจจะถูกเชิญมาสอบปากคำในฐานะพยาน หรืออาจจะอยู่ในเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ แต่ยังไม่ถูกดำเนินคดีก็จะเป็นเพียง ผู้ต้องสงสัย เท่านั้น ผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 ระบุว่า ผู้ต้องหา คือ บุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทําความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือก็คือคนที่ถูกดำเนินคดีแล้วโดยพนักงานสอบสวนหรือตำรวจ เรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดคดีใดบ้าง จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 ระบุว่า จำเลย คือ บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทําความผิด หรือก็คือผู้ต้องหาที่ถูกส่งตัวให้พนักงานอัยการ ตรวจสำนวนและส่งฟ้องต่อศาล เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ผู้ต้องหาก็จะเปลี่ยนสถานะไปเป็นจำเลย หมายความว่ากระบวนการยุติธรรมดำเนินมาถึงชั้นศาลแล้ว ศาลรับฟ้องผู้ต้องหาคนนี้กลายเป็นจำเลย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือจำเลยก็ตาม ทั้ง 3 สถานะ ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย แม้ศาลจะรับฟ้องแล้วก็ตาม แต่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุด ให้ถือว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์