มะเร็งเต้านม กลุ่มเสี่ยง-ญาติสายตรงให้เข้าถึงการตรวจหายีนกลายพันธุ์

วันที่ 6 ธ.ค. 2566 เวลา 15:01 น.

มะเร็งเต้านมสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ 6 หน่วยงานจับมือ ให้บริการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติสายตรง สิทธิประโยชน์ของคนไทยต้องทั่วถึง ครอบคลุม ไม่จำกัดแค่ รพ.ขนาดใหญ่ มะเร็งเต้านม วันนี้ (6 ธ.ค. 2566) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมการแพทย์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมเปิดการประชุมเครือข่ายการให้บริการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรง แบบครบวงจร นายสันติ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเต้านมที่ทำให้ผู้หญิงไทยต้องเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้ “มะเร็งครบวงจร” เป็น 1 ในนโยบายการดำเนินงาน ปี 2567  ซึ่งจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้การตรวจทางพันธุกรรมทำได้ง่ายขึ้นและมีค่าใช้จ่ายถูกลง สามารถใช้ผลการตรวจไปเป็นแนวทางการวางแผนป้องกันหรือรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ แม้การตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 จะถูกกำหนดให้เป็นสิทธิประโยชน์ของคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม รวมถึงญาติสายตรงซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 แต่พบว่ายังมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการนี้ เพราะการส่งตรวจจำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลศูนย์มะเร็งหรือโรงเรียนแพทย์ ในขณะที่โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนอีกหลายแห่ง อย่างเช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ก็มีศักยภาพที่จะให้คำปรึกษาและเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจ รวมถึงให้การดูแลผู้ป่วย ความร่วมมือของทั้ง 6 หน่วยงาน จะทำให้เกิดรูปแบบการบริการที่ครบวงจร ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงมะเร็งเต้านม การให้คำปรึกษาก่อนตรวจ การตรวจ การให้คำปรึกษาหลังตรวจ การรักษา ติดตาม ป้องกัน ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงครอบคลุมมากขึ้น ที่สำคัญคือประชาชนไม่ต้องเสียเงินค่าตรวจ ถ้าแพทย์พิจารณาแล้วว่าเข้าเกณฑ์ได้รับการตรวจยีน ผู้ที่ตรวจพบมียีนกลายพันธุ์จะได้รับการเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งการรักษาจะเกิดผลสำเร็จมากกว่า ตลอดจนได้ข้อมูลคำแนะนำถึงทางเลือกอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ทุกโรงพยาบาล ที่แพทย์วินิจฉัยแล้ว อยู่ในกลุ่มต้องส่งตรวจการกลายพันธุ์ของผู้ป่วย ญาติ ก็ส่งได้ทันที ตอนนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดบริการแล้วที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์