ปักหมุดของดีทั่วไทย : กริชรามันห์ มรดกทางภูมิปัญญา สู่อาชีพที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์ จ.ยะลา
วันที่ 6 ธ.ค. 2566 เวลา 07:15 น.
สนามข่าว 7 สี - ปักหมุดของดีทั่วไทยวันนี้ ไปดูแหล่งผลิตกริชโบราณที่มีชื่อเสียงอายุกว่า 300 ปี ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ที่ปัจจุบันมีการรื้อฟื้น ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในการผลิตกริชรามันห์ที่มีความสวยงาม อีกทั้งยังสอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมของคนมลายูชายแดนภาคใต้ ให้กับคนรุ่นใหม่ ไว้กับอาชีพการตีกริชโบราณไว้ได้อย่างมีคุณค่า ติดตามจากคุณอรรถพล ดวงจินดา เป็นศิลปะการร่ายรำที่อ่อนช้อยในท่วงทำนองการต่อสู้ ดั่งมีมนต์ขลัง ของเด็กนักเรียน ที่ถูกประยุกต์มาจากวิทยายุทธ์ในการร่ายรำ ของช่างตีกริชในสมัยโบราณ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนหนึ่งหลังจากทำกริชเสร็จ ที่ช่างทำกริช จะนำมาทดลองร่ายรำ เพื่อทดสอบ ความคล่องตัวในการใช้ กริชรามันห์โบราณ ถือเป็นสุดยอดศาตราภรณ์ อันทรงคุณค่า จนกลายเป็นมรดกทางภูมิปัญญาพื้นถิ่นคนมลายูชายแดนภาคใต้ ที่ถูกเก็บสะสมไว้ อย่างในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา อีกทั้งเป็นสถานที่ควรค่าต่อการศึกษา เพราะเป็นที่รวบรวมกริชโบราณเอาไว้ ซึ่งในอดีตกริชเหล่านี้ ยังเป็นการบอกถึงชนชั้น วรรณะ ของผู้ครอบครอง ทำให้หลายครอบครัวต่างยกตั้งขึ้นเป็นกริชประจำตระกูล ที่สืบทอดส่งต่อจากรุ่นสู่ร่น ยาวนานกว่า 300 ปีกันเลย ปัจจุบันโรงตีกริชรามันห์ ได้รับการรื้อฟื้นจากคนรุ่นใหม่ ที่มีถึง 4 แห่งในอำเภอรามัน จนกลายเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างเงิน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอาชีพให้ผู้สนใจ เข้ามาศึกษาเรื่องราวในอดีต ผ่านการทุบ การตีเหล็ก ที่ถูกไฟเผาจนร้อน และการแกะสลักลวดลายซึ่งเป็นงานศิลปะ ที่มีความปราณีต จึงไม่แปลกที่กริชรามันห์แต่ละเล่ม จึงเป็นทั้งอาวุธ อาภรณ์ประดับกาย หรือวัตถุมงคลคู่ใจของคนในพื้นที่มาอย่างยาวนานนั่นเอง กริชโบราณ ยังมีอิทธิพลต่อคนในพื้นที่ เพราะเป็นอัตลักษณ์การใช้ชีวิต และเป็นภูมิปัญญาที่สะท้อนถึงความคิด จนถูกผลักดันให้เป็นหลักสูตรเพิ่มเติมของโรงเรียนพัฒนาบาลอ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในจังหวัดยะลา และประเทศไทย ที่เปิดสอนให้เด็กมัธยมศึกษาตอนต้น ได้เรียนรู้และทำกริชกันจริง ๆ มาแล้วถึง 5 รุ่น ที่นำไปสู่การสร้างอาชีพได้จริงของเด็กในอนาคต การทำกริชโบราณแม้จะผลิตได้ไม่มาก เพราะเป็นงานฝีมือ ทำให้กริชแต่ละชิ้น จึงมีคุณภาพ มีคุณค่า ควรคู่แก่การเก็บรักษา อีกทั้งยังมีการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ ให้เกิดความเข้าใจในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ทำให้กริชรามันห์ ยังอยู่คู่แผ่นดินชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน จนถึงปัจจุบันนั่นเอง