เรือนจำท่องเที่ยวบ้านห้วยเตย ให้โอกาสผู้ต้องขังปรับตัวกลับสู่สังคม

วันที่ 5 ธ.ค. 2566 เวลา 10:38 น.

"ทวี สอดส่อง" เปิดเรือนจำท่องเที่ยว เรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย หนองบัวลำภู เพื่อฝึกทักษะผู้ต้องขัง มอบโอกาสให้ปรับตัว มีอาชีพกลับสู่สังคม         เรือนจำท่องเที่ยว วานนี้(4 ธันวาคม 2566) เมื่อเวลา 13.30 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดเรือนจำท่องเที่ยว "เรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย" ในสังกัดเรือนจำจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วยนายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี โดยพื้นที่เรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย สังกัดเรือนจำจังหวัดหนองบัวลำภู ได้รับการบริจาคที่ดินจาก พระเทพวัชรวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อสร้างเรือนจำชั่วคราวเนื้อที่รวมจำนวน 20 ไร่ โดยมีแนวคิดสร้างเรือนจำไว้ที่วัด วัตถุประสงค์สำคัญ คือเพื่อเป็นสถานที่ควบคุม ดูแล แก้ไขพฤตินิสัย ฝึกทักษะ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ สร้างการปรับตัว ให้แก่ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ รวมทั้งได้สนับสนุนสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้รับรางวัล “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ต้นแบบระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565  สำหรับการเปิดเรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย เป็นเรือนจำท่องเที่ยว เนื่องจากมีภูมิศาสตร์ และเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม มีประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า เหมาะแก่การดำเนินการจัดตั้งเป็นเรือนจำท่องเที่ยวเชิงเกษตร กระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเรือนจำ เป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับผู้ต้องขัง อีกทั้ง ยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของประชาชนทั่วไป การบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 โครงการ 1 ไร่ 1 แสน, ส่วนที่ 2 พื้นที่สวนสัตว์, ส่วนที่ 3 โคกหนองนา และส่วนที่ 4 ร้านอาหารและกาแฟ ปัจจุบันเรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย พร้อมเปิดให้บริการในรูปแบบเรือนจำท่องเที่ยวเชิงเกษตร จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการให้โอกาส และให้พื้นที่ในสังคมแก่อดีตผู้ก้าวพลาด ที่ได้ออกมาฝึกทักษะวิชาชีพในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เขาเหล่านี้ได้ปรับตัวเข้ากลับสังคมก่อนพ้นโทษ  อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการควบคุม ดูแล แก้ไขพฤตินิสัยผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์แล้ว สิ่งสำคัญคือการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมจากชุมชนและสังคมในการช่วยเหลือภารกิจคืนคนดีสู่สังคมของกรมราชทัณฑ์ เพราะผู้ก้าวพลาดเหล่านี้  ต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมภายหลังพ้นโทษ ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคนเหล่านี้ให้มีทักษะอาชีพ กลับไปใช้หาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่หวนกลับมากระทำความผิดซ้ำ เพื่อเป็นการคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน