สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ที่จังหวัดศรีสะเกษ
วันที่ 28 พ.ย. 2566 เวลา 20:06 น.
เวลา 09.00 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังโรงเรียนกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ทรงเยี่ยมการออกหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งโปรดให้ร่วมกับหน่วยงานสังกัดสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้บริการด้านสุขอนามัยแก่ประชาชนในชนบท ด้วยทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล จึงทรงส่งเสริมให้ได้รับการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ซึ่งในพื้นที่ มีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า และอากาศร้อนในตอนกลางวัน ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยได้ง่าย โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัคร คอยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับการตรวจรักษา และการวินิจฉัยจากแพทย์ในเบื้องต้น ปัญหาสุขภาพที่พบส่วนใหญ่ คือ ระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ, ระบบหัวใจและหลอดเลือด, ระบบประสาท มีผู้ป่วยส่งต่อ เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลอุทุมพรพิสัย โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น และโรงพยายาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี 4 คน โอกาสนี้ พระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อนำไปฉีดให้กับสุนัขและแมวจรจัด ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สร้างความเข็มแข็งในระดับท้องถิ่น ให้เป็นเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว ตามโครงการ "สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ" จากนั้น ทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในการฉีดวัคซีน ผ่าตัดทำหมัน เพื่อควบคุมประชากรสัตว์ ที่อาจเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คน รวมทั้ง โปรดให้ทีมสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ออกหน่วยให้บริการผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์เลี้ยงของประชาชนและสัตว์จรจัดในพื้นที่ ด้วยทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ และเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ควบคู่กับการดูแลสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัด ตามแนวทางโครงการ "สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ" และบูรณาการตามแนวพระนโยบายหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งเชื่อมโยงทั้งการดูแลสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุด