จากใจพนักงานเก็บกระทง มองกระทงหยวกกล้วยน่าจะดีที่สุด เก็บง่าย จัดการง่าย
วันที่ 27 พ.ย. 2566 เวลา 11:40 น.
จากใจพนักงานเก็บกระทง ฝากถึงวัสดุทำกระทง เจอเข็มหมุดจิ้มมือทุกปี มองกระทงหยวกกล้วยน่าจะดีที่สุด เก็บง่าย จัดการง่าย เน้นย้ำ 1 ครอบครัว 1 กระทง จากใจพนักงานเก็บกระทง วันนี้ (27 พ.ย.66) เพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์กรุงเทพฯ” ได้โพสต์ข้อความดีๆจากพนักงานเก็บขยะ ของเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย คนหนึ่ง โดยได้ระบุข้อความว่า “ผมเก็บขยะในงานลอยกระทงครั้งแรกเมื่อปี 2559 ปีนั้นยังแค่ติดรถมาช่วยยกขยะขึ้นรถ จำได้ว่ากระทงเยอะพอสมควร ส่วนมากเป็นหยวกกล้วย มีขนมปังบ้าง แต่ไม่ค่อยมีโฟมนะครับ ผมเริ่มมาเป็นตัวหลักเมื่อสองปีที่แล้ว รับผิดชอบตั้งแต่สะพานมัฆวานถึงแยกเจริญสวัสดิ์ จ่ายงานให้น้องไปประจำจุดต่างๆ กระทงลอยมาตามคลองผดุง เราจะใช้สวิงตักขึ้นมา ใส่เข่งไม้ไผ่ แล้วยกขึ้นรถหกล้อใหญ่ เริ่มเก็บตั้งแต่สามทุ่มถึงเที่ยงคืน ตอนเช้าค่อยมาเก็บอีกรอบ งานในวันลอยกระทงถือว่าเหนื่อยกว่าวันปกติ แต่ไม่ได้เหนื่อยมากจนไม่ไหว เขตป้อมปราบรับผิดชอบคลองย่อย ถ้าเป็นเขตที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วมีจัดงานใหญ่ๆ คงงานหนักกว่าเยอะ ผมเคยเห็นข่าวงานลอยกระทงของวัดอมรินทรารามวรวิหาร กระทงเยอะมาก (เน้นเสียง) “พอแยกของตกแต่งออกจากกระทงแล้ว โฟมจะทิ้งเป็นขยะทั่วไป ขนมปังที่เละแล้วจะทิ้งเป็นขยะเศษอาหาร หยวกกล้วยจะเอาไปโรงทำปุ๋ย สิ่งที่คนเก็บเจอทุกปี คือ เข็มหมุดจิ้มมือ ต้องล้างแผลแล้วเปลี่ยนถุงมือ เข้าใจว่าใช้ไม้กลัดคงไม่แน่น ถ้าเป็นไปได้ใช้ลูกแม็กก็ยังดีครับ ผมคิดว่ากระทงหยวกกล้วยน่าจะดีที่สุด เก็บง่ายกว่าและจัดการต่อได้ง่าย กระทงขนมปังเป็นอาหารปลาได้ก็จริง แต่ไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ ถ้าเป็นคลองเล็กๆ หรือพื้นที่ปิดก็ไม่ได้เหมาะ พอคนมาลอยเยอะๆ ปลากินไม่หมดก็ทำให้น้ำขุ่นน้ำเสีย ส่วนกระทงโฟม ผมว่าไม่ควรมีแล้ว มันย่อยสลายยากและใช้เวลานานมาก “ลอยกระทงปีนี้มีจัดงานเลียบคลองผดุงหลายวัน เราเข้างานกันตามปกติ เตรียมสถานที่จัดงาน ทำความสะอาดโป๊ะไม่ให้มีตะไคร่น้ำ ช่วงระหว่างลอยก็คอยอำนวยความสะดวกในงาน พอหลังสามทุ่มก็เริ่มเก็บกระทง คนน่าจะเยอะนะครับ เพราะโควิดผ่านไปสักพักแล้ว ถ้าถามว่าควรมีการลอยกระทงไหม คิดควรมีนะครับ ผมไปลอยกับแฟนและลูกบ้าง บอกลูกตามที่ผู้ใหญ่เคยสอน ลอยเพื่อสักการะพระแม่คงคา คนเราเอาน้ำมาใช้ เป็นการขออโหสิกรรมสายน้ำ เรามากันสามคนก็ลอยด้วยกันแค่กระทงเดียว ถ้าไม่มีเทศกาล ผมอาจทำงานกลับบ้านแล้วนอนพัก ไม่ได้พาครอบครัวไปไหน เทศกาลทำให้ได้ใช้เวลาร่วมกัน แต่ควรรณรงค์เรื่องวัสดุของกระทง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรลดจำนวนลง เป็นหนึ่งครอบครัวต่อหนึ่งกระทงก็ได้ครับ” ณัฐกรณ์ ปัทมะนาวิน - พนักงานเก็บขนขยะ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โลกโซเชียลแห่ชื่นชมและขอบคุณพนักงานเก็บขยะที่ช่วยดูแลบ้านเมืองให้สะอาดน่าอยู่เสมอ เปรียบเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ขอบคุณข้อมูล : FB มนุษย์กรุงเทพฯ