สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ดังนี้

วันที่ 25 พ.ย. 2566 เวลา 19:43 น.

วานนี้ เวลา 19.01 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทอดพระเนตรการแสดงโขน เรื่อง "รามเกียรติ์" ตอน "กุมภกรรณทดน้ำ" ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566 รวมทั้งสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรักษาและพัฒนาโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ให้เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทย และเป็นที่ชื่นชมในระดับนานาชาติ โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพร และการแสดงโขน ซึ่งยึดแนวบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรื่องรามเกียรติ์ ตอน "กุมภกรรณทดน้ำ" ตั้งแต่หลังจากที่กุมภกรรณทำศึกโมกขศักดิ์ กับพระลักษมณ์แต่ไม่สำเร็จ จึงคิดหาวิธีทำกลศึก นิมิตกายลงไปใต้น้ำทำพิธีทดน้ำ นอนขวางแม่น้ำไว้ เพื่อขัดขวางกองทัพพระราม เมื่อหนุมานแปลงเป็นเหยี่ยวสืบรู้ความลับของกุมภกรรณ จึงดำน้ำลงไปพบกุมภกรรณนอนขวางอยู่ จึงนิมิตกายแผลงฤทธิ์และต่อสู้ จนกุมภกรรณแพ้หนีไป จากนั้น กุมภกรรณ ยกกองทัพออกรบกับฝ่ายพระราม พระลักษมณ์ จนกุมภกรรณต้องศร เห็นพระราม มี 4 กร รู้ว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร จึงทูลขอโทษและฝากฝังพิเภก พระรามอภัยโทษและให้พรกลับคืนขึ้นสู่ฟากฟ้า การแสดงแบ่งเป็น 2 องก์ องก์ที่ 1 มี 5 ฉาก ได้แก่ ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา, ฉากตำหนักกุมภกรรณ, ฉากต้นกร่างใหญ่ริมแม่น้ำ, ฉากป่าริมฝั่งน้ำ และฉากพลับพลาพระราม ส่วนองก์ที่ 2 มี 4 ฉาก ได้แก่ ฉากอุทยานท้ายตำหนักกุมภกรรณ, ฉากใต้น้ำ, ฉากหน้าพระลานกรุงลงกา และฉากสนามรบ โดยมีครูผู้เชี่ยวชาญ ศิลปิน นักแสดง และนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ ร่วมแสดงฯ รวมทั้งมีการบรรเลงดนตรี การขับร้องเพลงไทยอันไพเราะ และเครื่องแต่งกายอันวิจิตรประณีต หลังจบการแสดง พระราชทานพระวโรกาสให้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้แทนคณะกรรมการ และคณะนักแสดง เฝ้ารับพระราชทานช่อดอกไม้  สำหรับการแสดงโขนในครั้งนี้ นำการออกศึกของกุมภกรรณในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของกุมภกรรณมาจัดแสดง เพื่อให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคี ความผูกพันของพี่น้องวงศ์ญาติที่ไม่อาจตัดขาดกันได้ รวมทั้งการให้อภัยไม่จองเวรให้เป็นบาปกรรมสืบต่อกัน ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้ เป็นหลักคิดที่ควรคงอยู่เป็นแบบอย่างอันดีงามสืบไปในสังคมปัจจุบัน เวลา 16.00 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ณ วชิราวุธวิทยาลัย ในการนี้ ทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพวงมาลาส่วนพระองค์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้น เสด็จไปยังหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ นักเรียนเป่าแตรนำเพลง มหาวชิราวุธราชสดุดี และร้องเพลง "มหาวชิราวุธราชสดุดี" แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเรียนสวด "วชิราวุธานุสฺสรณคาถา" ของสุชีโว ภิกขุ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือ วชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล ด้วยทรงเล็งเห็นว่า หากทรงสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่ จะเกินความจำเป็นในส่วนบำรุงพระพุทธศาสนา สิ่งที่จำเป็นในขณะนั้นคือ การให้การศึกษาแก่ราษฎร ในวันที่ 29 ธันวาคม 2453 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปิดรับนักเรียน และถือเป็นวันพระราชทานกำเนิดโรงเรียนฯ จากนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องไทยธรรม ทรงศีล เมื่อพระธรรมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ถวายพระธรรมเทศนาจบ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากันฑ์เทศน์ จากนั้น เสด็จไปยังห้องสดัปกรณ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ 51 รูป พระสงฆ์สดัปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก ต่อจากนั้น เสด็จไปยังห้องพิธี นักเรียนร้องเพลง "เราเด็กในหลวง" เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วงจุลดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี บท "พระสุบิน" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชน ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา ว่า "สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า" ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 15 ปี โดยเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 เวลา 17.31 น. เสด็จแทนพระองค์ไปยังสวนลุมพินี ทรงถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้ ทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง , สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพวงมาลาส่วนพระองค์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์ฯ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดิน ณ ทุ่งศาลาแดง สำหรับจัดสร้างสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสดงสินค้าเป็นครั้งแรก และจัดให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน ชื่อว่า "สวนลุมพินี" โดยวันนี้ ยังมีคณะองคมนตรี ตลอดจน หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ วชิราวุธวิทยาลัย ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เวลา...นาฬิกา...นาที สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จออก ณ วังศุโขทัย พระราชทานพระวโรกาสให้ นายเปโดร สวาห์เลน ( Mr.Pedro Xwahlen) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เฝ้า ในโอกาสมาปฏิบัติหน้าที่ใหม่