รุมขย่ม “ก้าวไกล”
วันที่ 25 พ.ย. 2566 เวลา 12:04 น.
“ปชป.” ขย่ม "ก้าวไกล" บี้สอบ ปล่อยทีม สส. รับงานเอนฯ ขัดประมวลจริยธรรม “เพื่อไทย” แนะ “ก้าวไกล” กวาดบ้านก่อนวิจารณ์ “นายกฯ” สารพัดปมร้อน ตั้งสามีเป็นผู้ช่วย สส. และ คุกคามทางเพศ วันนี้ (24 พ.ย.66) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ สส. จันทบุรี พรรคก้าวไกล ออกมายอมรับว่า มีทีมงานที่ประกอบอาชีพเป็นธุระจัดหาคนเพื่อรับงานเอนเตอร์เทน และ ชงเหล้างานปาร์ตี้ ว่า ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 17 กำหนดว่า “สมาชิกและกรรมาธิการต้องระมัดระวังการปฏิบัติงาน หรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ผู้ชำนาญการประจำตัว ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิก บุคคลหรือคณะบุคคลที่คณะกรรมาธิการแต่งตั้งหรือบุคคลใกล้ชิดอื่นใด มิให้มีการกระทำใด ๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สภาผู้แทนราษฎร สมาชิก หรือกรรมาธิการ” และบัญชีท้ายข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 19 กำหนดว่า “(สส.) ต้องไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่” จากกรณีดังกล่าว แม้อาชีพการเป็นธุระจัดหาบุคคลเพื่อรับงานเอนเตอร์เทน ชงเหล้า ร่วมงานปาร์ตี้ จะไม่ถือว่าเป็นอาชีพที่ขัดต่อกฎหมาย แต่ก็เป็นอาชีพที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นทีมงานของ สส. เพราะสุ่มเสียงต่อการผิดกฎหมายและล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้ง บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่สส. จะต้องปฏิบัติตัวให้มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีสมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน รวมถึงคนรอบข้างด้วย จึงฝากให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการสอบสวนในประเด็นดังกล่าว ว่าขัดประมวลจริยธรรมหรือไม่ เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้อง ขณะที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่ปรึกษา (ฝ่ายการเมือง) ของรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาโจมตีการแต่งตั้งตำรวจระดับผู้กำกับการและเรียกร้องให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกว่า เรื่องดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจนั้นนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจแทรกแซงและไม่เคยก้าวก่าย เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะพิจารณาตามผลงาน ตามอาวุโส สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดคือเรื่องปัญหาในพื้นที่ ปัญหายาเสพติดที่อยากให้ดูแลก็เท่านั้น นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า แปลกใจที่ นายรังสิมันต์ กล้าออกมาวิจารณ์นายกรัฐมนตรีกรณีนี้ ทั้งที่ สส.ภายในพรรคของตัวเองแต่งตั้งสามีเป็นผู้ช่วย หนักไปกว่านั้น ตามข่าวยังบอกว่าอาสาสมัครในทีม สส. ยังรับงานเอนฯ จัดหาคนชงเหล้าปาร์ตี้ ชาย – หญิง อีก นายรังสิมันต์ ควรกลับไปดูแลปัดกวาดบ้านตัวเองก่อนจะดีกว่า โดยเฉพาะปัญหาคุกคามทางเพศ ที่ภายในพรรคของนายรังสิมันต์เองยังอุ่นๆ อยู่ เรื่องการแต่งตั้งผู้ช่วยก็ตามมาติดๆ นายรังสิมันต์ ก็ยังมีเวลามาแซะมาวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นได้อีก เหมือนว่าสิ่งที่นายรังสิมันต์ กำลังทำหรือจุดประเด็นอยู่ก็เพื่อกลบข่าวหรือเบี่ยงประเด็นเรื่องภายในบ้านตัวเองเท่านั้นหรือไม่