สวนดุสิตโพล ชี้ สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กอาชีววิวาท กัน คือ การปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ รักศักดิ์ศรี สถาบัน

วันที่ 25 พ.ย. 2566 เวลา 10:55 น.

สวนดุสิตโพล ชี้ สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กอาชีววิวาท กัน คือ การปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ รักศักดิ์ศรี สถาบัน ขณะที่ ประชาชนมอง กระทรวงศึกษาธิการ ควรเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องเร่งแก้ปัญหา 25 พฤศจิกายน 2566 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องความปลอดภัยในชีวิตของคนไทย ณ วันนี้ กรณีศึกษา “เด็กอาชีวะ” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,161 คน สำรวจระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2566 พบว่า จากกรณีการทะเลาะวิวาทจนถึงแก่ชีวิตของเด็กอาชีวะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 87.83 มองว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมืออย่างจริงจัง มีมาตรการ แนวทางป้องกันที่เด็ดขาด โดยคิดว่าสาเหตุของการทะเลาะวิวาท คือ การปลูกฝังค่านิยมที่ผิด ๆ รักศักดิ์ศรี สถาบัน ร้อยละ 85.50 ด้านการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเด็ดขาด เพิ่มโทษสูงสุด ร้อยละ 74.03 ทั้งนี้ประชาชนดูแลความปลอดภัยของตนเองด้วยการหลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ร้อยละ 91.62 โดยหน่วยงานที่ควรเข้ามาเร่งแก้ปัญหานี้คือกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 88.10 และหากประชาชนมีบุตรหลาน ก็มองว่าไม่อยากให้เรียนต่อสายอาชีวศึกษา ร้อยละ 80.34 การเรียนสายอาชีวศึกษามีความสำคัญต่อตลาดแรงงานไทยอย่างยิ่ง แต่จากสถิติกลับพบว่าผู้สนใจศึกษาต่อ ในสายอาชีพไม่สูงนัก กอปรกับการรับรู้ข่าวในสื่อต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้ผู้ปกครองมีความวิตกกังวลมากขึ้น จากผลสำรวจที่ผ่านมาของสวนดุสิตโพล พบว่า สาเหตุของการก่อเหตุทะเลาะวิวาทมุ่งไปที่ความขัดแย้งระหว่างสถาบัน แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม สะท้อนให้เห็นถึงขอบข่ายของปัญหาที่กว้างขึ้นและฝังรากลึก ดังนั้นหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเร่งปราบปรามและกระทรวงศึกษาธิการต้องแก้ปัญหาในระยะยาว ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษามีมาอย่างยาวนาน ปัญหาที่เกิดนั้นมีสาเหตุทั้งจากความขัดแย้งส่วนตัว และค่านิยมที่ผิดในเรื่องสถาบันการศึกษา แนวทางการแก้ปัญหา อาจแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก คือ 1) การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ 2) การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเอง โดยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ได้แก่ ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับความรักสถาบันการศึกษา การเชิดชู สนับสนุนคนที่ความดี ความสามารถเชิงทักษะอาชีพ เชิงวิชาการ มากกว่าความเด่นดังในเรื่องของพฤติกรรมอันธพาลหรือสร้างความเดือดร้อนแก่สังคม สื่อควรสร้างไอดอลหรือแบบอย่างบุคคลที่ทำความดีมีความสามารถ ส่วนการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเองนั้นอาจทำได้โดยเฝ้าสังเกตสภาพรอบตัว ไม่เอาตนเองเข้าไปอยู่ในที่เสี่ยงที่ชุมนุมที่อาจเกิดการทะเลาะวิวาท นอกจากนั้น ตำรวจควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เร่งจับผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเฝ้าระวังเหตุในพื้นที่เสี่ยงอย่างทั่วถึง พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจ ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องแก่ลูกหลาน