"ดิจิทัล วอลเล็ต" ยังไม่ถึงมือ "กฤษฎีกา"
วันที่ 21 พ.ย. 2566 เวลา 16:24 น.
"เลขาฯ กฤษฎีกา" แจงยิบขั้นตอนออก พ.ร.บ.กู้เงิน "ดิจิทัล วอลเล็ต" โอดโดนด่าเละ คนรุมจวกทำงานช้า ทั้งที่ "คลัง" ยังไม่ส่งเรื่อง ย้ำเป็นนักกฎหมาย ไม่ใช่ “นักการเมือง” ไม่มีหน้าที่ ชี้ช่องช่วยรัฐ วันนี้ (21พ.ย.66) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ได้พบกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.กระทรวงการคลัง ถึงกรณีที่รัฐบาลจะถามเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ว่าจะมีหนังสือมาถึงกฤษฎีกาเมื่อไหร่ และ ได้คำตอบจากทางรัฐมนตรีว่า "กำลังดูอยู่" จากนั้น นายปกรณ์ ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนถึงขั้นตอนการออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าเงื่อนไขสามารถกู้ได้หรือไม่ โดยมีมติเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฏหมาย ขอย้ำว่า เป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามปกติโดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ ขั่นต่อไปจึงจะเป็นการยกร่างกฏหมาย “ เมื่อเช้าผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่านักข่าวรู้มากกว่าผมอีก” นายปกรณ์ กล่าว เมื่อถามว่า หาก ครม.ไปต่อในแนวทางนี้ไม่ได้ จะมีทางอื่นหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตนเอง และ คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฏหมาย โดยกฎหมายที่จะนำมาประกอบพิจารณา มีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายนหนี้สาธารณะ และ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่า เข้าเงื่อนไข วิกฤตหรือไม่วิกฤต เมื่อถามย้ำว่า เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อยากจะขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้ นายปกรณ์ กล่าวว่า คำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถาม เพราะตนเองไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ไม่มีหน้าที่ชี้ชัดว่า เศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤต ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน ในประเด็นที่ยังมีการโต้เถียงกัน