“อิกัวนาเขียว”แพร่พันธุ์ กระทบ “ตะกอง” หวั่นคนไทยจับผิดตัว

วันที่ 17 พ.ย. 2566 เวลา 14:43 น.

หวั่นคนไทยจับผิดตัว! แยกให้ออกระหว่าง “อิกัวนาเขียว” กับ “ตะกอง” กิ้งก่าพื้นถิ่นไทย ที่ลักษณะคล้ายกันอย่างมาก ซึ่งตะกองนั้นเป็นสัตว์คุ้มครองห้ามล่าและห้ามเลี้ยง วันนี้ (17 พ.ย. 66) จากกรณีที่ “อิกัวนาเขียว” เอเลียนสปีชีส์ ซึ่งแพร่พันธุ์อยู่ในพื้นที่ชุมชน ภายใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ จ.ลพบุรี โดยฝูงอีกัวนาได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้คนในชุมชน และบางพื้นที่ก็เริ่มหาวิธีกำจัดเจ้าอิกัวนาเขียวแล้ว โดยในประเทศไทยนี้มีกิ้งก่าประจำถิ่น ซึ่งมีสีเขียวลักษณะคล้ายกับอิกัวนาเขียวเป็นอย่างมาก มีชื่อว่า “ตะกอง” หรือ “ลั้ง” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภทสัตว์เลื้อยคลาน ลำดับที่ 41 ห้ามล่าและห้ามเลี้ยง ซึ่งอาจให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่า “ตะกอง” เป็น “อีกัวนาเขียว” จึงอาจไปจับหรือทำร้ายตะกองได้ โดยจุดสังเกตหลัก ๆ ที่จะแยกระหว่าง ตะกอง และ อีกัวนา คือ “อีกัวนา” จะมีเกล็ดวงกลมขนาดใหญ่บริเวณแก้มทั้ง 2 ข้าง และมีเหนียงใต้คาง มีหลากหลายสี แต่ “ตะกอง” ที่แก้มจะมีปุ่มสีขาวกระจายอยู่ไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ที่แก้ม และไม่มีเหนียงใต้คาง มีเพียงสีเขียวและสีดำ