หนุ่มขี่รถ จยย.ถูกเก๋งชนอัดเสาไฟฟ้า ถูก กฟน.ฟ้องเรียกค่าเสาไฟ
วันที่ 16 พ.ย. 2566 เวลา 06:08 น.
เช้านี้ที่หมอชิต - หนุ่มร้องขอความเป็นธรรม ถูกรถเก๋งชนรถจักรยานยนต์ไปอัดเสาไฟฟ้าหัก แต่ดันกลายเป็นฝ่ายผิด ถูกการไฟฟ้าฟ้องเรียกค่าเสียหายเกือบ 80,000 บาท นายกิตติชัย กนกกิจเจริญพร ร้องเข้ามายังรายการถกไม่เถียง หลังถูกการไฟฟ้านครหลวงฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายกว่า 34,000 บาท เป็นค่าเสาไฟฟ้าที่เสียหาย จากอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้าหัก ทั้งที่เขาไม่ใช่ผู้ก่อเหตุ ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ประมาณ 02.30 น. นายกิตติชัยกับแฟนขี่รถจักรยานยนต์ออกจากซอยถนนท่าข้าม มาตามถนนพระราม 2 เพื่อพาสุนัขป่วยไปหาหมอ โดยขี่รถย้อนศรบนทางเท้า เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุตรงข้ามศาลเจ้าแม่งู ได้หยุดรถบนทางเท้าเพื่อคุยโทรศัพท์กับน้องที่ขี่รถจักรยานยนต์นำเงินค่ารักษาสุนัขมาให้ ระหว่างนั้น มีรถเก๋งคันหนึ่งขับส่ายมาด้วยความเร็ว ปีนขึ้นบนทางเท้า พุ่งชนรถจักรยานยนต์กระเด็นไปอัดเสาไฟฟ้าพังยับเยิน ส่วนเสาไฟฟ้าหัก เคราะห์ดีที่นายกิตติชัยและแฟนกระโดดหลบทัน แต่ก็ได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุไปตามคดีกับตำรวจ ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เพราะประมาทกันทั้งคู่ โดยนายกิตติชัยถูกระบุว่าขี่รถย้อนศร ทำให้นายกิตติชัยคิดว่าคดีสิ้นสุด ทุกอย่างจบแล้ว ผ่านไป 2-3 เดือน ทราบข่าวคนขับรถเก๋งถูกตำรวจจับข้อหายาเสพติด เพราะการไฟฟ้านครหลวงติดต่อคนขับไม่ได้ จึงมาสอบถามตนว่าติดต่อคู่กรณีได้หรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบว่าติดต่อไม่ได้ ผ่านไป 1 ปี การไฟฟ้านครหลวงฟ้องแพ่งนายกิตติชัย เรียกค่าเสียหายที่ทำเสาไฟฟ้าหักเป็นเงิน 34,000 กว่าบาท โดยมีคนขับรถเก๋งเป็นจำเลยที่ 1 ส่วนนายกิตติชัยเป็นจำเลยที่ 2 ระบุในใบคำฟ้องว่า นายกิตติชัยกับคู่กรณีขับขี่รถแข่งกันมาจนไปชนเสาไฟฟ้าหัก นอกจากนี้ ทนายของการไฟฟ้านครหลวง ยังเรียกค่าเสียหายเพิ่มอีก 30,000-40,000 บาท อ้างเป็นค่าแรงติดตั้งเสาไฟฟ้า แต่จากการสังเกต พบการซ่อมเสาไฟฟ้าต้นดังกล่าว ไม่ได้เปลี่ยนเสาใหม่ทั้งต้น แค่ตัดส่วนที่หักออกและใช้เสาเดิม เพราะปกติตราสัญลักษณ์ของการไฟฟ้านครหลวงอยู่ระดับสายตา แต่เสาต้นนี้ ตราสัญลักษณ์อยู่เกือบติดดิน เตี้ยกว่าเสาต้นอื่น ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวง ที่เป็นผู้ตรวจสอบเสาไฟฟ้าต้นดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า ตามระเบียบของการไฟฟ้านครหลวง เมื่อไปตรวจสอบแล้ว จะต้องแจ้งบันทึกรายงานอุบัติเหตุให้ฝ่ายกฎหมายไปดำเนินการต่อภายใน 7 วัน แต่ในช่วง 7 วันหลังเกิดอุบัติเหตุ พยายามติดตามคดีกับตำรวจว่าใครผิดใครถูก เพื่อเรียกค่าเสียหายได้ แต่ทางตำรวจบอกยังไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกได้ จนเมื่อครบ 7 วัน จึงส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการต่อ เมื่อฝ่ายกฎหมายรับเรื่องไปแล้ว ปรากฏว่า คนขับรถเก๋งถูกจับคดียาเสพติด เข้าไปอยู่ในเรือนจำ เมื่อไปตามกับตำรวจ ตำรวจก็บอกกว้าง ๆ ว่ารถจักรยานยนต์ขี่ย้อนศรบนทางเท้า ส่วนรถเก๋งก็ขับมาชนบนทางเท้า ไม่มีความคืบหน้าอะไร ฝ่ายกฎหมายของการไฟฟ้านครหลวงจึงต้องฟ้องทั้ง 2 ฝ่าย ให้ร่วมกันรับผิดชอบ ด้าน พันตำรวจโท สมพล บุญทา สารวัตรสอบสวน สน.ท่าข้าม ชี้แจงว่า คนขับรถเก๋งให้การอ้างวูบหมดสติ เลยเสียหลักไปชนคู่กรณีที่ขี่ย้อนศรมาบนทางเท้า แล้วลากรถไปชนเสาไฟฟ้า ยืนยันไม่ได้มีการขับแข่งกันมาแต่อย่างใด ส่วนกรณีผู้เสียหายระบุมีตำรวจขอค่ากระเช้าโควิด 3,000 บาท เพื่อแลกกับการเคลียร์คดี แต่ผู้เสียหายไม่มีเงิน จึงโอนให้แค่ 1,000 บาทนั้น ยืนยันไม่ทราบเรื่อง อย่างไรก็ตาม นายรณรงค์ แก้วเพ็ชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม บอกว่า รู้สึกเห็นใจผู้เสียหาย ต้องเสียเวลาไปขึ้นศาลจนถูกไล่ออกจากงาน ไม่มีเงินจะสู้คดีแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ต้องรอดูว่าวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ศาลจะพิจารณาตัดสินอย่างไร หากผลออกมาผู้เสียหายต้องชดใช้ แนะนำให้ร้องเรียนถึงผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง