ศิริกัญญา มองดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่มีใครได้เงิน พ.ร.บ.กู้เงินฯ ถูกปัดตก
วันที่ 10 พ.ย. 2566 เวลา 16:51 น.
สุดท้ายต้องกู้มาแจก "ศิริกัญญา" มองดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่มีใครได้เงิน พ.ร.บ.กู้เงินฯ ถูกปัดตก หากเกิดอภินิหารกฎหมายผ่านสภาฯ การผ่อนชำระคืน 4 ปี บวกดอกเบี้ยจะสร้างภาระทางการคลังเกือบ 20% ของรายได้รัฐบาล ความเคลื่อนไหวหลังนายกรัฐมนตรี แถลงเคาะเกณฑ์การจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท วันนี้ (10 พ.ย.66) เวลาประมาณ 16.00 น. ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีแถลงวันนี้ เป็นการยอมรับว่าไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน ทั้งเรื่องว่าจะเอาแหล่งเงินมาจากไหน สุดท้ายต้องกู้มาแจก และเทคโนโลยีจาก super application (ซุเปอร์แอปฯ ) ที่ย้อนกลับมาใช้แอปฯเป๋าตัง ไหม ศิริกัญญา ระบุด้วยว่า ซ้ำร้าย เงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจไม่มีใครได้เงินเลยสักคนเดียว เพราะทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้าน ขัดต่อ ม. 140 ของรัฐธรรมนูญ และ ม. 53 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง แต่ก็ยังเลือกทางนี้ ซึ่งนายกฯ และพรรคเพื่อไทย ย่อมทราบดี เพราะเป็นกรณีเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญปัดตก พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้าน (รถไฟฟ้าความเร็วสูง) เมื่อปี 2556 “หรือนี่เป็นเพียงการสร้างภาพให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ากำลังจะได้เงิน ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าไปไม่รอดแน่ เป็นการสร้างกับดักเพื่อที่ในอนาคต หากมีบรรดานักร้อง หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ไปร้องแน่นอน ก็จะสามารถอ้างได้ว่าเป็นความผิดของศาลรัฐธรรมนูญในการปัดตกร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล ซึ่งดิฉันขอคัดค้านสุดตัวไม่ให้เรื่องนี้มีศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ก็ให้มันจบที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคนตีความ และรัฐบาลรับผิดชอบในทางการเมืองด้วยตัวเอง” แต่ถ้าถึงที่สุด เกิดอภินิหารและร่าง พ.ร.บ.นี้ ผ่านสภาฯ ไปได้ การผ่อนชำระคืนใน 4 ปี บวกดอกเบี้ยในแต่ละปี จะสร้างภาระทางการคลังขึ้นไปเกือบ 20% ของรายได้รัฐบาล เท่ากับเก็บภาษีมาได้ก็เอาไว้จ่ายคืนหนี้ ดอกเบี้ยต่องบประมาณจะทะลุ 10% ในปีงบ 68 ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาสถาบันจัดเครดิตเรตติงเฝ้าจับตา เพื่อรอหั่นเรตติงอยู่แน่นอน