ชัชชาติ จ่อใช้ AI วัดน้ำหนักรถบรรทุกบนสะพาน สั่งกวดขันไซต์งานก่อสร้าง-คุมน้ำหนักรถบรรทุก
วันที่ 9 พ.ย. 2566 เวลา 16:01 น.
ชัชชาติ เผย 2 เหตุถนนทรุด รถบรรทุกน้ำหนักเกิน-มาตรฐานก่อสร้าง จ่อใช้ AI วัดน้ำหนักบนสะพาน สั่งกวดขันไซต์งานก่อสร้าง-คุมน้ำหนักรถบรรทุก ระบุรถคันเกิดเหตุเคยบรรทุกน้ำหนักเกิน 61 ตัน วันนี้ (9 พ.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการแก้ปัญหาถนนก่อสร้างโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินทรุดตัวขณะรถบรรทุกวิ่งผ่านวานนี้ รวมถึงเหตุบนถนนราชปรารภขาออก บริเวณแยกมักกะสัน-จตุรทิศ ที่ฝาบ่อของโครงการก่อสร้างบ่อดันท่อระบายน้ำแตกหักว่า ทั้งสองกรณีคล้ายคลึงกัน คือมีรถบรรทุกวิ่งผ่าน สาเหตุอาจจะเกิดได้จาก 2 เรื่อง คือ 1.รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งตามกฎหมายท้องถิ่นรถบรรทุก 10 ล้อที่วิ่งในเมือง น้ำหนักบรรทุกต้องไม่เกิน 25 ตัน แต่คันที่เกิดเหตุจากการคำนวณตามขนาดรถ และดิน คาดการณ์น้ำหนักอาจจะถึง 45 ตัน แต่ก็ยังไม่ได้สรุปว่ารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป และ 2. เรื่องคุณภาพการก่อสร้างได้มาตรฐานหรือไม่ โดยล่าสุดถนนสุขุมวิท ตรงที่เกิดเหตุได้เปิดการจราจรตามปกติแล้ว แต่ก็ได้มีการเสริมคานเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ ยอมรับว่าเมื่อวานนี้ต้องนำดินออกจากรถบ้าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยกรถทำงานได้ปลอดภัย แต่พยายามนำขึ้นมาเหมือนเดิม โดย กทม.ได้ประสาน กรมทางหลวงนำเครื่องชั่งมาวัดน้ำหนักหาข้อเท็จจริงต่อไป อย่างไรก็ตาม กทม.จะต้องเข้มเรื่องความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก โดยมาตรการจะมีสองส่วน คือ การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก และมาตรฐานในการก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟ รฟม. และโครงการนำสายไฟลงดินของการไฟฟ้านครหลวง ส่วนของกรุงเทพมหานครก็มีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำ Pipe Jacking บริเวณมักกะสัน สิ่งที่เป็นปัญหาและได้เน้นย้ำไปคือการดูแลส่วนของโครงสร้างชั่วคราว เช่น ฝาปิดบ่อที่ปิดในตอนกลางวัน และตอนกลางคืนเปิดเพื่อทำงานต่อ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบทำโครงการก็ต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น ส่วนเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก เป็นความรับผิดชอบร่วมกันกับตำรวจและกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดูแลทางหลวงท้องถิ่น โดย กทม.ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงท้องถิ่น ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ประกาศ ณ วันที่ 31 มี.ค.65 ซึ่งต้องกำหนดน้ำหนักเหมือนกับ อปท.อื่นๆ เพราะรถไม่ได้วิ่งภายในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะรถบรรรทุกมีการวิ่งไปในจังหวัดอื่นๆ ที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีด่านชั่งน้ำหนัก แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นคดีอาญา โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน เมื่อจับกุมแล้วต้องส่งให้ทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินคดี การดำเนินการต่อไปต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจ และ ทล.ไม่รอชั่งน้ำหนักบนถนน แต่จะชั่งที่ต้นทางที่ไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้ง 317 แห่ง ที่มีการขุดดินเหนียว ซึ่งได้ยืมเครื่องชั่งจาก ทล.มา 1 ตัวแล้ว โดยในวันนี้จะเข้าสุ่มตรวจ 1 ไซต์ก่อสร้าง นอกจากนี้ จะจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการวัดน้ำหนักบรรทุก ผ่านสะพานข้ามแยกต่างๆ โดยวิธี Bridge Weight in Motion ที่หลายประเทศมีการใช้งานจริง รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายที่จะนำไปบังคับใช้ในการพิสูจน์หลักฐาน ใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ ซึ่งผลการศึกษาใกล้เสร็จในอีก 2 เดือน แล้วจะนำงบกลางของ กทม.จัดซื้อเครื่องชั่งติดตั้งตามสะพานในจุดต่างๆ “จากการศึกษาพบว่าอาจจะใช้เทคโนโลยีวัดติดตั้งบนสะพาน เมื่อวิ่งผ่านจะแสดงน้ำหนักได้ ซึ่งจากการทำวิจัยประมาณ 1 ปี ทดลองติดตั้งเทคโนโลยีตรวจจับน้ำหนักไว้บนสะพาน เมื่อคืนนี้จึงลองส่งทะเบียนรถบรรทุกคันที่เกิดเหตุ ไปให้อาจารย์ที่ทำวิจัยดู ก็พบว่าก็มีความเป็นไปได้ที่จะบรรทุกเกิน เพราะจากข้อมูลระบุว่า รถทะเบียนนี้ เมื่อเดือนก.ค.66 พบว่าบรรทุกน้ำหนัก 61 ตัน แต่ย้ำว่านี่เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการ ยังไม่ได้สรุปว่า รถคันนี้น้ำหนักเกิน แต่จะชี้ให้เห็นว่านี่คือแนวทางที่กรุงเทพมหานครกำลังศึกษา และทำวิจัยอยู่ ในการหาเทคโนโลยีเอไอมาช่วยตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะจะเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี” ส่วนเรื่องของส่วยสติกเกอร์นั้น กรุงเทพมหานครไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านกรุงเทพมหานครไม่ได้ดูเรื่องน้ำหนักรถ การจับกุมเป็นของตำรวจเป็นหลัก เทศกิจมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ความสะอาด คลุมผ้า มีดินร่วง ดินหล่น สกปรกหรือไม่ แต่หลังจากนี้ก็คงจะต้องมี 3 ฝ่าย คือ กรุงเทพมหานคร ตำรวจ และทางหลวง ในการกวดขันร่วมกัน หลังจากนี้ต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะเกิดเหตุคล้ายคลึงติดๆ กัน ซึ่งในแต่ละโครงก็ต้องดูแลงานของตัวเอง ไม่ใช่ของ กทม.ทั้งหมด อย่างการไฟฟ้าก็มีอยู่ 879 ฝาบ่อ ผู้รับเหมาของการไฟฟ้าฯ ก็ต้องดูแลรับผิดชอบงานของตัวเอง แต่ได้กำชับแต่ละเขต ออกไปสำรวจไซต์ก่อสร้างว่ามี ตรงไหนเสี่ยง จะบรรทุกเกินหรือไม่ ก็จะทำได้ตามอำนาจที่มี และจะได้ประสานให้เข้มงวด เพราะลำพังเทศกิจ หรือโยธา คงดูทั้งหมดได้ไม่เพียงพอ