ดรามา ขอความร่วมมืองดใช้เสียงไซเรน

วันที่ 1 พ.ย. 2566 เวลา 11:31 น.

ห้องข่าวภาคเที่ยง - ข่าวนี้เป็นดรามา เกิดจากเสียงไซเรนรถพยาบาล หลังมี ผอ.ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ของโรงแรมแห่งหนึ่งย่านสีสม ส่งหนังสือถึงผู้จัดการมูลนิธิแห่งหนึ่ง ขอให้ลด หรือ ปิดเสียงไซเรนยามวิกาล ที่การจราจรไม่ติดขัด เพราะ รบกวนการพักผ่อนของประชาชน หลายคนในโลกออนไลน์ "เห็นด้วย" กับการร้องเรียน พร้อมยกตัวอย่างประเทศอื่น ๆ ก็เปิดเฉพาะช่วงรถติด หรือ ผ่านแยก นี่เป็นจดหมายที่แชร์กันในโลกออนไลน์ จากผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล โรงแรมย่านสีลม ถึงผู้จัดการมูลนิธิฯ แห่งหนึ่ง ขอความร่วมมือลด หรือ ปิดเสียงไซเรนรถพยาบาลในยามวิกาล ที่ไม่มีการจราจรติดขัด เพราะทางโรงแรม และ ประชาชนพื้นที่ใกล้เคียง เดือดร้อนจากเสียงที่ดังรบกวนการพักผ่อนยามวิกาล ที่เสียงไซเรนจะดังต่อเนื่องและดังนาน สร้างความรำคาญ รบกวนการนอนหลับของประชาชน ทางผู้ส่งจดหมาย ก็บอกอีกว่า เข้าใจดี ว่าเสียงไซเรน ช่วยเปิดทางให้รถพยาบาลไปได้อย่างรวดเร็ว สะดวก แต่เขาเห็นว่ากลางคืนรถมันไม่ติด จึงไม่จำเป็นต้องเปิด เลยขอความร่วมมือ ใช้แค่ไฟวับวาบได้หรือไม่ มาส่องคอมเมนต์กันหน่อย คนเห็นด้วยกับจดหมายฉบับนี้ก็มาก เช่น ถ้ามันกลางคืน รถไม่ติด แค่เปิดไฟมันก็สว่าง จนรถคันหน้าต้องเห็นอยู่แล้ว ไม่ควรเปิดเสียงไซเรนดังสนั่น บางคนยกตัวอย่างที่ญี่ปุ่นก็ไม่เปิด เปิดแค่ไฟ จะเปิดเสียงแค่ตอนมีรถ หรือ ผ่านแยกที่นอร์เวย์ รถฉุกเฉินไม่เปิดไซเรน ถ้าไม่จำเป็น แต่จะเปิดไฟสีฟ้า ให้รู้ว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่ เพราะเสียงไซเรนเป็นมลภาวะทางเสียงแบบหนึ่ง จะเปิดแค่ 2-3 วินาที ที่รถด้านหน้าไม่ทันเห็น หรือ ออกมาทางสี่แยกที่มีมุมอับ แต่ที่ทำแบบนี้ได้ เพราะคนนอร์เวย์เคารพกฎจราจรมาก แต่อีกมุมของความเห็น เขาก็บอกว่า แล้วโรงแรมไม่ได้ลงทุนทำห้องพักที่แน่นหนามิดชิดกันเสียงได้เหรอ อย่างน้อยให้มันเก็บเสียงได้ระดับหนึ่ง บางคอมเมนต์สงสัยว่า หนังสือฉบับนี้ลงนามโดย ผอ.ฝ่ายบุคคล แต่ทำไมอ่านเนื้อหาแล้วชวนสงสัย ว่าขอความอนุเคราะห์ในนามโรงแรม หรือ ส่วนตัว ได้เชิญมูลนิธิฯ มาหารือก่อนหรือไม่ ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุไว้ว่า หลักการการใช้สัญญาณไฟวับวาบ และเสียงไซเรนพร้อมกัน ให้ใช้กรณีจำเป็น ที่ต้องใช้เดินรถเพื่อปฏิบัติหน้าที่ เมื่อมีเหตุฉุกเฉินรีบด่วน ก็ต้องพิจารณาดูว่า กลางคืน ถ้ารถไม่ติด มันจะเข้าเกณฑ์ว่ารีบด่วนหรือไม่