พบกระทิงในรอบ 37 ปี ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน

วันที่ 29 ต.ค. 2566 เวลา 11:09 น.

กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าพบ “กระทิง” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 37 ปีแล้ว ที่ไม่มีการพบกระทิงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน โดยกระทิงเป็นสัตว์ที่พบได้ยากในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย วันนี้ (29 ต.ค. 66) นาย อาคม บุญโนนเเต้  หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เผยว่า ตามที่เขตฯ ได้มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) เพื่อสำรวจการกระจายของสัตว์ป่าร่วมกับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพของป่ารอยต่อระหว่างประเทศไทยและสหภาพเมียนมา โดยเลือกพื้นที่ที่พบร่องรอยสัตว์ป่าชุกชุม หรือมีรายงานว่าเคยพบเห็นสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ในบริเวณนั้น โดยเมื่อช่วงเวลาเช้าตรู่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาทางเขตฯ ได้เปิดกล้องดักภาพถ่ายสัตว์ป่า พบกระทิง (Bos gaurus) ซึ่งเป็นสัตว์ที่นับว่าพบตัวยากในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินได้พบเห็นกระทิงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2529 และในปี พ.ศ. 2531 มีผู้ลักลอบล่าวัวป่าชนิดนี้จากบริเวณแม่ลาหลวงใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา ซึ่งเป็นผืนป่าต่อเนื่องกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน (ไพฑูรย์ ตนพะยอม 2533, การติดต่อส่วนตัว)” ข้อมูลเกี่ยวกับการพบเห็นตัวกระทิงในพื้นที่เขตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินที่มีปรากฎในเอกสาร รายงานฉบับร่างแผนแม่บทเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2533 ทั้งนี้ นับเป็นเวลากว่า 37 ปี แล้วที่ไม่มีรายงานการพบเห็นตัวกระทิงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินเลย หากแต่มีเพียงข้อมูลคำบอกเล่า รอยตีน หรือ กองมูล ที่ไม่อาจยืนยันได้ชัดเจนว่า เป็นกระทิงหรือไม่ แตกต่างกับวัวแดงที่มีพบเห็นตัวโดยตรงบ่อยครั้ง และมีแหล่งอาศัยชัดเจนคือบริเวณป่าเต็งรังที่ราบตอนบนของเขตฯ เท่านั้น จากการรายงานของเจ้าหน้าที่บริเวณที่ถ่ายภาพได้ และชาวบ้านในพื้นที่ พบว่ามีร่องรอยกระทิงมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ประจำทุกปี โดยมาในลักษณะฝูงเล็ก ๆ (1 – 3 ตัว) หรือมาในลักษณะกระทิงโทน (ตัวผู้ตัวเดียว) และมีพฤติกรรมหากินข้ามไปมาบริเวณป่ารอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา และประเทศเมียนมา หากแต่เป็นเพียงข้อมูลคำบอกเล่า รอยตีน และกองมูล ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระทิงหรือเป็นร่องรอยปศุสัตว์ของชาวบ้าน ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ในครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญในการยืนยันการมีอยู่และการกระจายของกระทิงในพื้นที่ ดังนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน จึงถือเป็นป่าอนุรักษ์เพียงแห่งเดียวในภาคเหนือของประเทศไทยที่มีรายงานพบเห็นตัวกระทิงในปัจจุบัน