รีบจองตั๋ว รถไฟลอยน้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 25 ต.ค.นี้

วันที่ 24 ต.ค. 2566 เวลา 14:50 น.

การรถไฟฯ เปิดจองตั๋วเที่ยวพิเศษ กรุงเทพฯ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทริปสุดฮิต นั่งรถไฟลอยน้ำ ชมบรรยากาศกลางเขื่อน จองพร้อมกัน 25 ต.ค.นี้ วันนี้(24 ต.ค.2566) เมื่อเวลา 13.12 น. การรถไฟแห่งประเทศไทย เชิญชวนนักท่องเที่ยว “นั่งรถไฟลอยน้ำ” ไปสัมผัสบรรยากาศปลายฝนต้นหนาวกับขบวนรถพิเศษนำเที่ยว เส้นทางกรุงเทพ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ - กรุงเทพ โดยเปิดให้บริการทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 พร้อมเปิดให้บริการเที่ยวแรก 4 พฤศจิกายน 2566 เริ่มจำหน่ายตั๋วโดยสารพร้อมกันทุกสถานีทั่วประเทศ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป สำหรับขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะเปิดให้บริการแบบไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 รวม 24 วัน (ขบวนรถงดให้บริการช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ วันที่ 30 - 31 ธันวาคม 2566) ประกอบด้วย เดือน พฤศจิกายน วันที่ 4,5,11,12,18,19,25,26 รวม 8 วัน เดือน ธันวาคม    วันที่ 2,3,9,10,16,17,23,24 รวม 8 วัน เดือน มกราคม    วันที่ 6,7,13,14,20,21,27,28 รวม 8 วัน อัตราค่าโดยสารผู้ใหญ่และเด็กราคาเดียวกัน ดังนี้ รถธรรมดา ชั้น 3 (พัดลม) กรุงเทพ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ - กรุงเทพ ไป-กลับ ราคา 330 บาท สระบุรี/แก่งคอย - โคกสลุง ไป-กลับ  ราคา 330 บาท เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ - กรุงเทพ เฉพาะเที่ยวกลับ ราคา 150 บาท รถปรับอากาศ ชั้น 2 รถนั่งปรับอากาศ (JR-WEST) กรุงเทพ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ - กรุงเทพ ไป-กลับ ราคา 500 บาท สระบุรี/แก่งคอย - โคกสลุง ไป-กลับ  ราคา 500 บาท เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ - กรุงเทพ เฉพาะเที่ยวกลับ ราคา 250 บาท รถนั่งปรับอากาศ (OTOP TRAIN และรถนั่ง/นอนปรับอากาศ JR-WEST) กรุงเทพ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ - กรุงเทพ ไป-กลับ ราคา 590 บาท สระบุรี/แก่งคอย - โคกสลุง ไป-กลับ ราคา 590 บาท เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ - กรุงเทพ เฉพาะเที่ยวกลับ 250 บาท รถธรรมดา ชั้น 3 (รถโถง) เดินทางระยะสั้น ไม่สำรองที่นั่ง สระบุรี/แก่งคอย - โคกสลุง ไป-กลับ ราคา 200 บาท นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังเปิดให้บริการตู้โดยสารพิเศษจัดเฉพาะเช่าเหมาคัน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเป็นหมู่คณะ สามารถเช่าพ่วงเพิ่มไปกับขบวนรถนำเที่ยวดังกล่าวได้ สอบถามข้อมูลได้ที่งานตั๋วหมู่คณะ หมายเลขโทรศัพท์ 02 6218701 ต่อ 5202 นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขบวนรถพิเศษนำเที่ยว กรุงเทพ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ - กรุงเทพ ขบวนที่ 921/926 เริ่มออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 06.00 น. ถึง จุดชมวิว “รถไฟลอยน้ำ” กลางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 09.25 น. โดยขบวนรถจะหยุดกลางสันเขื่อนมีเวลาให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ความงดงาม 20 นาที และเดินทางไปที่สถานีโคกสลุง มีเวลาให้นักท่องเที่ยวได้เดินชม ชิม ช้อป สินค้าพื้นเมือง OTOP พร้อมทั้งอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดลพบุรี ประมาณ 30 นาที จากนั้นขบวนรถจะพานักท่องเที่ยวกลับมาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 10.35 น. นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นเดินเล่นชมวิวริมอ่างเก็บน้ำ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก นั่งรถตัวหนอนไหว้พระใหญ่ รับประทานอาหารกลางวันจากร้านค้าของกลุ่มชุมชนท้องถิ่น หรือท่องเที่ยวรอบนอกตัวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยใช้บริการรถตู้ของกลุ่มรถตู้ชุมชนหน้าเขื่อนฯ ที่นำมาให้บริการเป็นพิเศษ อัตราค่าบริการท่านละ 70 บาทตลอดเส้นทาง นำชมสถานที่ท่องเที่ยวทุ่งทานตะวัน ทุ่งดอกดาวกระจายและทุ่งหญ้าหลากสีที่บานสะพรั่งสวยงาม ณ บ้านกล้วย & ไข่ คาเฟ่ เดินทางต่อเพื่อไปชมสวนเฟิร์นยักษ์ บนพื้นที่กว่า 4 ไร่ ให้ทุกท่านได้ถ่ายรูปกับบรรยากาศที่สวยงามบริเวณจุดชมวิว ณ ไร่ทรัพย์ประยูร จากนั้น ขบวนรถเที่ยวกลับออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 15.30 น. ถึงสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 18.50 น. นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นลงตามจุดต่าง ๆ โดยมีสถานีที่หยุดรับ-ส่ง ได้แก่ สถานีชุมทางบางซื่อ ดอนเมือง รังสิต อยุธยา สระบุรี และชุมทางแก่งคอย การรถไฟฯ เริ่มเปิดจองตั๋วโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุดไม่เกิน 30 วัน) ด้วยระบบ D-Ticket หรือที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การรถไฟฯ คาดหวังว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ สร้างความเข้มแข็งสู่เศรษฐกิจฐานราก และชุมชนให้กลับมามีความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป.