นักวิจัยเก็บตัวอย่างน้ำที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรไปตรวจสอบ
วันที่ 19 ต.ค. 2566 เวลา 14:52 น.
นักวิจัยจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเยี่ยมสะพานปลาที่ฟุกุชิมะ หลังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทร พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบด้านความปลอดภัย วันนี้ (19 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิจัยจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เยี่ยมชมสะพานปลาฮิซาโนฮามะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าลงสู่ทะเลไปก่อนหน้านี้ โดยยังมีนักวิจัยจากประเทศต่าง ๆ อาทิ จีน เกาหลีใต้ และแคนาดา เข้าร่วมตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย โดยทีมนักวิจัยยังได้ทำการเก็บตัวอย่างปลาและน้ำทะเลจากบริเวณดังกล่าว เพื่อนำกลับไปตรวจสอบด้านความปลอดภัย ซึ่งตัวอย่างที่เก็บมานี้จะถูกส่งไปยังศูนย์วิจัยในจังหวัดชิบะ และหลังจากนั้นจะมีการคัดแยกประเภทของตัวอย่างที่เก็บมาและส่งต่อไปที่ห้องแล็ปอื่น ๆ สำหรับการทดสอบตัวอย่างแต่ละชนิดอย่างละเอียด ซึ่งทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศจะรายงานผลจากการทดสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เมื่อการดำเนินการทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จนเกิดเป็นกระแสการต่อต้านในหลายประเทศ โดยทางการจีนประกาศแบนการนำเข้าอาหารทะเลทุกชนิดจากญี่ปุ่นเนื่องจากเกรงว่า อาจปนเปื้อนสารพิษจากโรงไฟฟ้า ในขณะที่เกาหลีใต้เกิดการประท้วงขึ้น