“สีจิ้นผิง” เชื่อแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ช่วยให้ทุกประเทศมีอนาคตที่ดีร่วมกันได้
วันที่ 18 ต.ค. 2566 เวลา 13:15 น.
“สีจิ้นผิง” ผลักดัน 'แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' ที่ต่อยอดการพัฒนาประเทศของจีน จากประเทศที่ประชาชนต้องอยู่ในบ้านถ้ำที่เต็มไปด้วยเห็บหมัด ทำงานหนัก ไม่มีกิน ผงาดขึ้นเป็นประเทศที่เติบโตมากที่สุดอันดับ 2 ของโลกในเวลาอันรวดเร็ว ผู้นำจีนเชื่อว่า แผนริเริ่มนี้จะเป็นกุญแจอีกดอกที่ช่วยให้ทุกประเทศมีอนาคตที่ดีร่วมกันได้ ในห้วงเวลานี้ทุกสายตาพากันจับจ้อง "สีจิ้นผิง" ประธานาธิบดีจีน เจ้าภาพต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ และนักวิชาการจากทั่วทุกมุมโลก เข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ณ นครหลวงปักกิ่ง แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นก้าวสำคัญที่ “สีจิ้นผิง” มุ่งหวังต่อยอดการพัฒนาระดับโลก ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แผนริเริ่มนี้ ได้ช่วยเพิ่มโอกาสการพัฒนาแบบก้าวกระโดดให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก หากจะเปรียบเทียบแผนริเริ่มนี้เป็นสินค้าสาธารณะ ก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก การรวมตัว ณ กรุงปักกิ่ง ในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่ง การส่งมอบโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ให้แก่ผู้นำประเทศ นักธุรกิจ นักวิชาการจากทั่วโลก ที่จะได้ร่วมพูดคุยเข้าใจแนวทางและร่วมกันหุ้นส่วนของแผนริเริ่มฯ เพื่อต่อยอดผลสำเร็จของแผนริเริ่มนี้ ให้เกิดประโยชน์กับทุกประเทศ นำมาซึ่งความรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้าร่วมกัน บ้านที่เต็มไปด้วยเห็บหมัด จุดประกายการพัฒนา ประสบการณ์ตรงของผู้นำจีน “สีจิ้นผิง” ที่เห็นชาวจีนที่ต้องนอนในบ้านถ้ำที่เต็มไปด้วยเห็บหมัด ตรากตรำทำงานหนักหลายชั่วโมง ต่อสู้กับความหิวโหย โดยเมื่อปลายทศวรรษ 1960 “สีจิ้นผิง” เป็นหนึ่งใน "เยาวชนผู้มีการศึกษา" ถูกส่งไปยังชนบทเพื่อการ "เรียนรู้ใหม่" และต้องประหลาดใจกับความท้าทายของการใช้ชีวิตในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ที่ยากลำบาก "เราไม่มีเนื้อสัตว์กินกันนานหลายเดือน" สีจิ้นผิงเล่าย้อนถึงเรื่องราวเมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ขณะเดินทางเยือนเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐฯ ในฐานะประธานาธิบดีจีนในอีกหลายทศวรรษต่อมา โดยเขามุ่งมั่นที่จะทำ "สิ่งหนึ่งที่ผมปรารถนามากที่สุดตอนนั้นคือการทำให้ชาวบ้านได้กินเนื้อสัตว์จนพอใจ" กุญแจแก้ปัญหาความยากจนของ “จีน” รสชาติความยากจนอันขมปร่า ตอกย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจและความเชื่อมั่นของ “สีจิ้นผิง” ว่า "การพัฒนา” เป็นกุญแจสำคัญสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน" โดย “สีจิ้นผิง” มักหยิบยกสุภาษิตจีนอันโด่งดังอย่าง "ถนนมาก่อน ความเจริญรุ่งเรืองจึงจะตามมา" จากสุภาษิตจีนนี้ ทำให้จีนใช้ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนสายเคเบิลหรือซ่อมแซมถนน โดยเฉพาะพื้นที่ยากไร้บางแห่ง สามารถเปิดประตูสู่การบรรเทาความยากจนและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนจีนได้ การเปิดกว้างเป็นสิ่งน่าอัศจรรรย์ของจีน เมื่อครั้ง “สีจิ้นผิง” เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ จีนก็เพิ่งจะผงาดขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเผชิญสารพัดความท้าทาย การเปิดประเทศถือเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ของจีนในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา และ “สีจิ้นผิง” ได้ยืนยันอีกครั้งถึงความทุ่มเทของจีนที่มีต่อการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น “แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงเป็นหนึ่งการเปิดประเทศให้กว้างขึ้นของจีนในรูปแบบใหม่ เป็นการออกแบบปฏิรูปยกระดับการเปิดประเทศที่สูงขึ้น และแสวงหาการพัฒนาที่มีคุณภาพมากขึ้น” หวังอี้เหวย ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าว แผนริเริ่มฯ ที่ผู้นำแต่ละประเทศกำลังนั่งร่วมโต๊ะหารือกันครั้งนี้ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ “สีจิ้นผิง” ในการเปิดกว้างยิ่งขึ้น และมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมโยงความต้องการการพัฒนาอันเร่งด่วนที่สุดของโลกกับสิ่งที่จีนเชี่ยวชาญ นั่นคือสร้างถนนและสะพานเพื่อการเชื่อมโยงถึงกันยิ่งขึ้น รายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 61.94 ล้านล้านบาท) ต่อปีจนถึงปี 2030 เพื่อรักษาทิศทางการเติบโต นอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สมุดปกขาวว่าด้วยการพัฒนาแผนริเริ่มฯ ระบุว่าแผนริเริ่มฯ ยังเป็นแนวทางแก้ไขประเด็นปัญหาการพัฒนาระดับโลก ยามมนุษยชาติเผชิญความท้าทายอันน่าหวาดหวั่นจากการขาดดุลทางสันติภาพ การพัฒนา และธรรมาภิบาลในปัจจุบัน จีนไม่โดดเดี่ยวจากโลก สำหรับผู้นำจีนแล้ว จีนมิอาจพัฒนาโดยโดดเดี่ยวตนเองจากโลกได้ฉันใด โลกก็ต้องการจีนเพื่อการพัฒนาฉันนั้น ดังที่ “สีจิ้นผิง”เคยกล่าวไว้ การดำเนินการตามแผนริเริ่มฯ ที่ตัวเขานำเสนอ "ไม่ได้หมายถึงการสละเวลาสร้างสิ่งที่ผู้อื่นเคยทำมาแล้วขึ้นมาใหม่" ทว่ามุ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาของนานาประเทศที่เกี่ยวข้องโดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของพวกเขา และมุ่งบรรลุการพัฒนาแบบแบ่งปันและได้ผลประโยชน์ร่วมกันเพิ่มพลังการสื่อสารระหว่างอารยธรรม วัฒนธรรม สำคัญกับการพัฒนาประเทศ “สีจิ้นผิง” เป็นคนรักการอ่านจนหนังสือกลายเป็นส่วนหนึ่งขอชีวิตประจำวัน นิสัยรักการอ่านทำให้ “สีจิ้นผิง” รอบรู้เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทั้งตะวันออกและตะวันตก กลายเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจในแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระดับโลก เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2013 ขณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อมิร์ ติมูร์ ในกรุงทาชเคนต์ของอุซเบกิสถาน ระหว่างการเยือนเอเชียกลางครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีจีน มีแผนที่เส้นทางสายไหมโบราณฉบับหนึ่งได้ดึงดูดความสนใจจาก “สีจิ้นผิง” มาก โดยเส้นทางสายไหมโบราณนั้น เป็นมากกว่าเส้นทางการค้า เพราะการหมุนเวียนสินค้าผ่านเส้นทางนี้ กระตุ้นการสื่อสารทางวัฒนธรรม โดยคลื่นคาราวาน นักเดินทาง นักวิชาการ และช่างฝีมือ ได้เดินทางระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตกในฐานะทูตวัฒนธรรม เชื่อมโยงแหล่งกำเนิดอารยธรรมอียิปต์ บาบิโลน อินเดีย และจีน รวมถึงหลายดินแดนศาสนาที่สำคัญ "ประวัติศาสตร์เป็นครูที่ดีที่สุด" สีจิ้นผิงกล่าว พร้อมเสริมว่าการฟื้นฟูและสืบสานจิตวิญญาณแห่งเส้นทางสายไหม กอปรกับส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและระหว่างประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญของแผนริเริ่มฯ "ขณะทำงานตามแผนริเริ่มฯ เราควรรับรองว่าเมื่อพูดถึงอารยธรรมที่แตกต่างกัน การแลกเปลี่ยนจะเข้าแทนที่ความเหินห่าง การร่วมเรียนรู้จะเข้าแทนที่การปะทะ และการอยู่ร่วมกันจะเข้าแทนที่ความรู้สึกเหนือกว่า สิ่งนี้จะเพิ่มพูนความเข้าใจ การเคารพ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างนานาประเทศ" สีจิ้นผิง กล่าวไว้ในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1 นั่นคือเหตุผลที่สีจิ้นผิงเสนอให้มีการจัดการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย (CDAC) และผลักดันแผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI) โดยสีจิ้นผิงกล่าวว่าเราควรรักษาพลวัตของอารยธรรม และสร้างเงื่อนไขอันเกื้อหนุนอารยธรรมอื่นๆ ให้เจริญรุ่งเรืองด้วย ประชาคมโลกต้องมีอนาคตร่วมกัน "มนุษยชาติที่อาศัยอยู่บนโลกและในยุคสมัยเดียวกันกับที่ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงบรรจบ ได้กลายเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" สีจิ้นผิงกล่าวต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก ณ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมอสโกในปี 2013 ซึ่งถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของสีจิ้นผิงหลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน ในครั้งนั้น “สีจิ้นผิง” นำเสนอการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติเป็นครั้งแรก และแนวคิดนี้กลายเป็นหลักการพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศของจีน จนนำมาสู่ การเสนอ “แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของผู้นำจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการทำให้วิสัยทัศน์ในการสร้างโลกที่ดีขึ้นของเขากลายเป็นความจริง ห้วงยามที่บางประเทศตะวันตกอ้างสิ่งที่เรียกว่า "การลดความเสี่ยง" (de-risking) มาบังหน้าการแยกตัว (decoupling) จากจีน โดยประเทศจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงยังคงยึดมั่นความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่ายและลัทธิพหุภาคีที่แท้จริง “สีจิ้นผิง” ชี้ว่าการที่ผู้คนทั่วโลกมีชีวิตดีขึ้นเป็นหนทางเดียวที่จะค้ำจุนความเจริญ คุ้มครองความมั่นคง และปกป้องสิทธิมนุษยชน และตระหนักดีว่ากลุ่มประเทศโลกซีกใต้ (Global South) ต้องการการพัฒนาเพิ่มขึ้น ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN) เสมอมา นำสู่การนำเสนอแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) ในปี 2021 และเรียกร้องประชาคมนานาชาติรับรองว่าทุกประเทศจะได้ร่วมสร้างความทันสมัย ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการค้าที่เพิ่มขึ้นจากความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะเพิ่มรายได้ที่แท้จริงทั่วโลกร้อยละ 0.7-2.9 และโครงการตามแผนริเริ่มฯ อาจช่วยนำพาผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง 7.6 ล้านคน ขณะที่รายงานจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) คาดการณ์ว่าแผนริเริ่มฯ มีแนวโน้มเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 258 ล้านล้านบาท) ต่อปีภายในปี 2040 ถึงแม้แผนริเริ่มนี้ จะเป็นก้าวสำคัญ ซึ่งผู้นำจีนเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาประชาคมโลกให้มีอนาคตที่ดีได้ แต่สิ่งสำคัญที่ยิ่งยวดคือ การเปิดประเทศให้กว้างขึ้น และเข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละชาติ จะช่วยให้การพัฒนามีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจาก สำนักข่าวซินหัว