รวบแก๊งคอลเซนเตอร์อ้าง จนท.กรมที่ดิน หลอกโอนเงิน

วันที่ 18 ต.ค. 2566 เวลา 05:08 น.

เช้าข่าว 7 สี - ตำรวจไซเบอร์ ตามรวบเกือบยกแก๊งคอลเซนเตอร์ชาวไทยและต่างชาติ ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน หลอกเหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชัน ชำระค่าภาษีที่ดิน ดูดเงินจนหมดบัญชีธนาคาร ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท. หรือ ตำรวจไซเบอร์ นำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 8 จุด ในจังหวัดสระแก้ว, ชุมพร, ชลบุรี, พังงา, กาญจนบุรี และชัยนาท จับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ ได้ผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน เป็นคนไทยทั้งหมด มี 2 คน หลบหนีไปได้ พร้อมของกลางเงินสดกว่า 2.7 ล้านบาท และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ผู้เสียหาย เล่าว่า ถูกมิจฉาชีพโทรศัพท์มาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ขอให้ชำระค่าภาษีที่ดิน ก่อนจะส่งลิงก์ข้อมูลให้ผู้เสียหายกดเข้าไปตรวจสอบ หลอกถามข้อมูลส่วนตัว และเลขบัญชีธนาคาร ก่อนจะให้โหลดแอปฯ มาติดตั้งในโทรศัพท์ รู้ตัวอีกทีโทรศัพท์ก็ไม่สามารถใช้การได้ แล้วเงินในบัญชีก็ถูกถอนไปจนเกลี้ยง จากการตรวจสอบพบว่ามีการโอนเงินต่อไปยังบัญชีต่าง ๆ เกือบ 10 บัญชี ตำรวจจึงตามแกะรอย ขอศาลออกหมายจับบัญชีม้า 10 คน จนสืบสวนพบว่าผู้บงการ คือ นายต้า ชาวกัมพูชา ที่ตอนนี้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน ฝากเตือนว่าทุกวันนี้จะมีการอ้างกรมที่ดินหลอกลวงอยู่ 3 รูปแบบ คือ ปลอมหนังสือราชการ, สร้างเว็บไซต์ หรือแอปฯ กรมที่ดินปลอม และโทรศัพท์หลอกลวง อ้างเรื่องการจัดเก็บภาษี ไม่ก็เป็นเรื่องรังวัดที่ดิน จึงต้องย้ำว่า กรมที่ดิน จะไม่โทรหาประชาชน ไม่ขอให้แอดไลน์ ไม่มีหน้าที่เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัปเดตข้อมูล หรือบริการธุรกรรมทางโทรศัพท์ใด ๆ สำหรับเรื่องแอปฯ ปลอมดูดเงิน ปีที่แล้ว (2565) มีแค่จำนวนหลักร้อยราย แต่ปีนี้ยังไม่หมดปี มีผู้เสียหายแล้ว 1,400 ราย ความเสียหายกว่า 417 ล้านบาท วิธีการป้องกันภัยตัวเอง อย่ากดลิงก์ใน SMS หรือหากมีเบอร์แปลก ๆ ก็ให้ลองกดตัดสายแล้วโทรกลับ หากโทรแล้วติดต่อไม่ได้ ก็ให้สันนิษฐานว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายที่ไม่ทันระวังตัว ติดตั้งแอปฯ ไปแล้ว ให้รีบเข้าโหมดเครื่องบิน (โหมด AIRPLANE ที่มีรูปเครื่องบิน) เพื่อตัดการเชื่อมต่อทุกช่องทาง และถอนการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าว หรือไม่ก็ให้ทำการคืนค่าโรงงาน ล้างข้อมูลในโทรศัพท์จะดีที่สุด