รัฐบาลยัน ก.แรงงาน ไม่มีนโยบายเก็บเงินค่ารถบัสไปสุวรรณภูมิ 2,500 บาท

วันที่ 16 ต.ค. 2566 เวลา 06:09 น.

เช้านี้ที่หมอชิต - จากกรณีที่มีการรายงานของสื่อมวลชนกระจายไปทั่วโซเชี่ยลว่า การไปทำงานที่อิสราเอลต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม คือค่ารถบัสจากกระทรวงแรงงาน (ดินแดง กทม.) ไปสนามบินสุวรรณภูมิ มากถึง 2,500 บาท ต่อคน เรื่องนี้มีการชี้แจงจากทางรัฐบาลแล้ว รัฐบาลยัน ก.แรงงาน ไม่มีนโยบายเก็บเงินค่ารถบัสไปสุวรรณภูมิ 2,500 บาท นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังมีประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่มีค่าเดินทาง 2,500 บาทแน่นอน จากนั้นจึงอธิบายว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในอิสราเอลทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 71,020 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่น นอกจากรายการ ดังนี้ หนึ่ง ค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทาง เท่าที่จ่ายจริง ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม 100 บาท, ค่าธรรมเนียมการขอรับหนังสือเดินทาง 1,500 บาท, ค่าตรวจสุขภาพ 3,250 บาท ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวจากประเทศไทยไปยังอิสราเอล ประมาณ 25,000 บาท, ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 400 บาท สอง ค่าใช้จ่ายหลังจากเดินทางไปถึงรัฐอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมจัดหางานที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานในรัฐอิสราเอลและค่าธรรมเนียมของโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล รวมประมาณ จำนวน 3,549 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 40,000 บาท ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น ตัวเลขนี้ระบุในเอกสาร ถ้ารวมออกมาจะอยู่ที่ 70,250 บาท คลาดเคลื่อนจากที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงเล็กน้อย อาจปรับตามอัตราแลกเปลี่ยน แต่เป็นตัวเลขที่ห่างจาก 2,500 บาท ตามที่มีข่าวว่ามีการเก็บเพิ่มอีกเป็นค่ารถบัส  กรมการจัดหางานแจงเหมารถเฉลี่ยคนละ 200 บาท ต่อมา นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เรื่องการเก็บค่ารถไปสนามบินสุวรรณภูมิคนละ 2,500 บาท ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง กรมการจัดหางาน เก็บค่าใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ประมาณ 71,020 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) อย่างไรก็ตาม สำหรับการเดินทางจากกระทรวงแรงงาน ไปส่งยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะมีการประสานรถบัสเที่ยวละ 5,300 บาท กำหนดผู้โดยสารพร้อมสัมภาระ ไม่เกิน 30 คนต่อคัน หากแรงงานต้องการใช้บริการจะมีค่ารถรายละ ประมาณ 200 บาท และชำระค่าใช้จ่ายให้กับรถบัสโดยตรง ไม่มีการบังคับ หากแรงงานท่านใดประสงค์เดินทางด้วยตนเองก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ โดย นางสาวบุณยวีร์ ให้เหตุผลการจัดหารถให้แรงงานว่า แรงงานที่ไปทำงานอิสราเอลส่วนใหญ่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประกอบกับการไปทำงานตามโครงการมีสัญญาจ้างสูงสุด 5 ปี 3 เดือน เวลาเดินทางจะมีสัมภาระเยอะมาก ต้องใช้บริการแท็กซี่ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง กรมการจัดหางานจึงอำนวยความสะดวกด้วยการเหมารถบัสเพื่อช่วยให้แรงงานไทยประหยัดค่าโดยสาร ซึ่งราคาจะเป็นการเฉลี่ยต่อหัวต่อเที่ยว ขึ้นอยู่กับว่าเที่ยวนั้นๆนั้นมีแรงงานโดยสารรถบัสกี่ราย โดยส่วนใหญ่จะเฉลี่ยที่ 200 บาทต่อคน