นาทีฉาว! พนักงานเทศกิจ เขตดุสิต เรียกรับเงินผู้รับเหมา
วันที่ 11 ต.ค. 2566 เวลา 07:09 น.
สนามข่าว 7 สี - เรื่องการทุจริตโดยการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์ ยิ่งปราบ ก็ยิ่งเจอ ล่าสุดเป็นกรณีของพนักงานเทศกิจ สำนักงานเขตดุสิต ซึ่งใช้หน้าที่ของตัวเองไปเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการบริษัทรับเหมาก่อสร้าง บอกว่าถ้าจ่ายให้ก็จะไม่เอาผิด เป็นภาพขณะที่ผู้ประกอบการบริษัทรับเหมาก่อสร้าง กำลังเจรจากับพนักงานเทศกิจรายหนึ่ง สังกัดสำนักงานเขตดุสิต โดยมีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงการเรียกรับเงิน ซึ่งทีมคอลัมน์หมายเลข 7 ได้มา หลังจากที่เมื่อวานนี้ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ 3 หน่วยงานปราบทุจริต ทั้ง ปปป. ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. สนธิกำลังเข้าไปจับกุมตัวพนักงานเทศกิจรายดังกล่าว พร้อมของกลาง เป็นเงินสด 6,000 บาท ที่บริเวณลานจอดรถของสำนักงานเขตดุสิต สำหรับพฤติการณ์ของพนักงานเทศกิจรายนี้ คือใช้ตำแหน่งหน้าที่ตัวเองไปอ้างกับผู้ประกอบการบริษัทรับเหมาก่อสร้าง บอกว่า รถขนอุปกรณ์ก่อสร้างที่ใช้เข้า-ออกในไซต์งาน เช่น หิน ดิน หรือทราย ส่วนผสมคอนกรีต ตกหล่นหรือรั่วไหล ปลิวบนถนน ผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ต้องเสียค่าปรับ แต่ถ้าไม่อยากเสียค่าปรับบ่อย ๆ ก็จ่ายเงินค่าคุ้มครองมา เดือนละ 3,000 บาท ไซต์งานก่อสร้างที่อื่นก็จ่ายแบบนี้เหมือนกัน ทำให้ผู้ประกอบการบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องตามระเบียบ รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็เลยร้องเรียนให้ตรวจสอบ หลังเกิดเรื่อง พนักงานเทศกิจก็ให้การรับสารภาพ และต้นสังกัดอย่าง กทม. ซึ่งมีนโยบายชัดเจน ว่าไม่ทนต่อการทุจริต ก็ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสอบสวนวินัย และมีคำสั่งพักราชการแล้ว มีผลวันนี้ (11 ต.ค.) ส่วนการสอบสวน หากพาดพิงไปถึงใคร ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป มาดูประวัติของพนักงานเทศกิจ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินกันบ้าง เขาทำงานในสังกัด กทม. ตำแหน่งลูกจ้าง ตั้งแต่ปี 2543 รวมแล้วก็ประมาณ 22 ปี เปลี่ยนที่ทำงานมา 3 เขต ยังไม่มีประวัติถูกร้องเรียนเรื่องทุจริต มีไม่มีไม่ใช่ประเด็น เพราะเมื่อวานนี้ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้ให้สัมภาษณ์ บอกว่าให้ดูพฤติกรรม และเจตนาเป็นหลัก อะไรทำให้กล้ากับเงินแค่นี้ มีช่องโหว่ ช่องว่าง อะไรหรือไม่ แล้วจะหาทางหยุดยั้ง ป้องกัน อย่างไร ที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พูดก็น่าคิด เพราะหากมองภาพรวมของทั้งประเทศ อย่างเทศกิจที่ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบัญญัติของ กทม. แต่ฉวยโอกาสใช้ช่องว่างเรียกรับผลประโยชน์ จะสร้างความเสียหายมากเท่าไหร่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจะมากมายเท่าไหร่ ยังไม่นับรวมกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้าย ๆ เทศกิจ ซึ่งกระจายอยู่ตามท้องถิ่นทั่วประเทศ เกือบ 8,000 แห่ง