อุทาหรณ์ความดันโลหิตสูง "หมอธีระวัฒน์" เตือนถ้าไม่จริง ให้ยาอาจอันตรายมาก

วันที่ 30 ก.ย. 2566 เวลา 15:07 น.

อุทาหรณ์ความดันสูง "หมอธีระวัฒน์" เตือนถ้าไม่จริงการให้ยาอันตรายมาก จากเส้นเลือดใกล้ตีบกลายเป็นตัน อัมพาต อย่าตายใจ วัดความดันเช็กเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีประวัติความดัน โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ และเป็นที่มาของเหตุการณ์ที่ทำไมออกกำลังกายทุกวัน หัวใจวายตายได้ เพราะไม่เคยรู้ตัวว่ามีความดันสูง ออกกำลังกลับยิ่งทำร้ายตนเองมากขึ้น  วันนี้ (30 ก.ย.66) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แจ้งเตือนเป็นอุทาหรณ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงโรคความดันโลหิตสูง ว่า ถ้าไม่ใช่การให้ยาอาจอันตราย พร้อมยกเคสตัวอย่าง ผู้ป่วยอายุ 60 ปี หลังจากถูกย้ายจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แม้จะพอรู้ตัวโต้ตอบได้บ้าง แต่แทบจะขยับเคลื่อนไหว แขน-ขา ทั้ง 2 ข้างไม่ได้ และมองเห็นภาพซ้อนจนต้องปิดตา 1 ข้าง ข้อความตอนหนึ่ง หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า ผู้ป่วยคนนี้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โดยโรคความดันฯ เป็นมานาน 8 ปี ควบคุมได้ในช่วง 2-3 ปีหลัง ความดันตัวบนอยู่ในระดับ 120-130 และตัวล่าง 80-90 เมื่อ 5 วันที่ผ่านมา ขณะนั่งดูละครมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนกระทันหัน พร้อมกันนั้นเห็นภาพซ้อน เสียงเปลี่ยนไป และยืนทรงตัวแทบไม่ได้ โงนเงนแต่ยังไม่มี แขน-ขาอ่อนแรง ไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่งวัดความดันได้ 200/100 โดยที่ยังมีเวียนศีรษะอยู่ตลอด แพทย์ให้การวินิจฉัยทันทีว่าความดันสูงอย่างแรง จนทำให้เวียนหัว ให้ยาอมใต้ลิ้น ยาลดความดัน ยาฉีดเข้าเส้นแก้เวียนศีรษะ ภายใน 25 นาทีต่อมา อาการเวียนเริ่มจะดีขึ้น ความดันลงมาถึงระดับ 110/80 แต่แขน ขา ยกได้น้อยลง และแกว่งไปมาคุมไม่ค่อยได้ ลูกตาเข จนเห็นได้ชัด และลิ้นคับปากมากขึ้น คอมพิวเตอร์สมองไม่พบความผิดปกติใดๆ และอาการอ่อนแรงลามขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 1.30 ชั่วโมง ถัดมา คนไข้แทบเคลื่อนไหวไม่ได้ ขณะที่อยู่โรงพยาบาลได้รับการรักษาด้วยยาฉีด และอื่นๆในห้องไอซียู เนื่องจากค่าใช้จ่ายจึงขอย้าย รพ. หมอธีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ครั้งที่ 2 พบว่ามีก้านสมองซึ่งถูกเลี้ยงด้วยเส้นเลือดคู่หลัง และสมองน้อยส่วนท้ายทอยขาดเลือด ซึ่งอธิบายถึงอาการเวียน ตาเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ เข รวมทั้ง แขนขา 2 ข้างไม่มีแรง ก้านสมองควบคุมการเคลื่อนไหวลูกตา และอวัยวะในการพูด การกลืนโดยตรง เป็นทางผ่านของสายใยประสาทสั่งงานที่มาจากสมองใหญ่ด้านบนทั้ง 2 ข้าง  ความผิดปกติในก้านสมอง ย่อมทำให้เกิดอ่อนแรง อัมพาต ของแขน-ขา ร่างกายซีกเดียวหรือทั้ง 2 ซีกก็ได้ นอกจากนั้นความที่เส้นเลือดคู่หลังยังไปเลี้ยงสมองน้อยส่วนท้ายทอย จึงกระพือให้การทรงตัวของร่างกายและการเคลื่อนไหวของ แขน-ขา ผิดปกติไปอีกด้วย การที่เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง มองไม่เห็นความผิดปกติเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากลักษณะของเส้นเลือดตีบจะเริ่มปรากฎให้เห็นในวันถัดมา หรืออาจช้าไปได้ถึง 3-5 วัน “ การที่อาการของโรคทรุดลงอย่างรวดเร็วจากเวียนศรีษะเฉยๆ โดยที่ แขน-ขา ยังไม่อ่อนแรง จนกลายเป็นอัมพาตนั้น มีตัวการที่สำคัญ คือการที่ปรับความดันให้ลดลงเร็วกระทันหัน ความดันสูงเป็นปฏิกริยาของร่างกายและสมองต่ออัมพฤกษ์ที่เริ่มเกิดขึ้น ไม่ใช่ความดันสูงแล้วทำให้เกิดเวียนหัว การรีบลดความดันอย่างรวดเร็วทำให้เลือดซึ่งไหลเอื่อยๆ อยู่แล้ว จากการที่เส้นเลือดตีบจวนจะตัน กลายเป็นตัน และก่อให้เกิดอาการอื่นทยอยตามกันมา” หมอธีระวัฒน์ ระบุ อย่างไรก็ตาม การลดความดันที่สูงขณะที่เกิดมีอัมพฤกษ์-อัมพาต หรือมีเส้นเลือดตีบตันในสมองนั้น อาจต้องกระทำในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (thrombolysis) ซึ่งต้องรีบรักษาในระยะเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากที่เกิดอาการ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดที่ตีบกลายเป็นแตก ขณะให้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ก็ต้องพยุงความดันให้อยู่ในระดับเหมาะสมตลอด ในคนที่ไปตรวจความดัน ก่อนจะสรุปมีความดันสูง ต้องตรวจหลายครั้ง ต่างวันกัน และในขณะที่ทำการวัดความดัน  ต้องอยู่ในสภาพปกติ ไม่เหนื่อย ไม่มีภาวะปวดเวียน ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว นั่งพักก่อนอย่างน้อย 5-10 นาที การจะบอกว่าคนๆ หนึ่งเป็นโรคความดันสูง ต้องกินยา จำเป็นต้องทำการตรวจหลายๆ ครั้ง กรณีของผู้ป่วยคนนี้ เป็นที่มาของการที่ผู้ป่วยอัมพฤกษ์หลายคน อาการดีขึ้น จากการให้หมอเทวดา หมอนวดรักษา ซึ่งความจริงเกิดจากการที่ตัวโรคดีขึ้นเองตามธรรมชาติ) แต่การให้กินน้ำ (มนต์) เยอะๆ ก็เป็นเครื่องช่วยทางอ้อม ทั้งนี้ การให้น้ำเพียงพอเปรียบเสมือนการทำให้เลือดใส ไหลเวียนได้สะดวกขึ้น และการไม่ไปแตะต้องกับความดัน (ซึ่งยังอยู่ในระดับที่รับได้ และไม่กระทบกับอวัยวะอื่น เช่น หัวใจ ความดันที่ตกใจสูงขึ้นมาครั้งเดียว ขณะที่มาตรวจตามปกติทุก 1-3 เดือน และได้รับยาเพิ่มไปทันที อาจจะเกิดผลร้ายมากกว่า สำหรับคนที่มีความดันสูงและอยู่ในการรักษา การทราบความดันตนเองบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ดี เพื่อเป็นหลักประกันว่าโรคความดันของตนเองควบคุมได้สม่ำเสมอ ทั้งนี้การวัดไม่ว่าจะเป็นเช้า-สาย-บ่าย-เย็น ควรอยู่ในระดับ 130/80 หรือต่ำกว่า และในการวัดควรวัดความดันของแขน 2 ข้าง เนื่องจากความดันอาจต่างกันบ้าง   หมอธีระวัฒน์ ย้ำด้วยว่า ความดันที่สูงขึ้นวันละเล็กวันละน้อย จะไม่เกิดอาการผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นอย่าตายใจ วัดความดัน เช็กเป็นครั้งคราวเรื่อยๆ โดยเฉพาะถ้าครอบครัวมีประวัติความดัน โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ และเป็นที่มาของเหตุการณ์ที่ทำไมออกกำลังกายทุกวัน วิ่งทุกวัน หัวใจวายตายได้ ทั้งนี้ เพราะไม่เคยรู้ตัวว่ามีความดันสูงและออกกำลังกลับยิ่งทำร้ายตนเองมากขึ้น