ปักหมุดของดีทั่วไทย : น้ำผึ้งชันโรง ผลวิจัยเข้มข้นจากเกสรดอกเสม็ดขาว ต้านโรคมะเร็ง-อัลซไฮเมอร์ จ.นราธิวาส
วันที่ 28 ก.ย. 2566 เวลา 07:11 น.
สนามข่าว 7 สี - ไปดูการเลี้ยงผึ้งชันโรงของชาวบ้านในจังหวัดนราธิวาส ที่มีการยืนยันจากห้องแล็บว่า สรรพคุณของน้ำผึ้งที่มีสารช่วยต้านโรคมะเร็ง และโรคอัลซไฮเมอร์ ที่เข้มข้นและสูงกว่าที่อื่น ๆ จนราคาขายน้ำผึ้งสูงถึงลิตรละ 5,000 บาท แต่ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ติดตามจาก คุณอรรถพล ดวงจินดา ใน "ปักหมุดของดีทั่วไทย" วันนี้ กล่องลังไม้ที่เห็นวางอยู่รอบบ้าน และกระจายอยู่ทั่วสวนเกือบ 100 กล่อง ที่เห็น คือ รังผึ้งชันโรง ที่ชาวบ้านในตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เลี้ยงไว้ จากแค่ทำเป็นอาชีพเสริม แต่ปัจจุบันกลายเป็นรายได้หลัก เพราะขายน้ำผึ้งได้นับหมื่นบาทต่อเดือน จึงเห็นรอยยิ้มและความสุขของชาวบ้าน ที่ดูดเก็บน้ำผึ้งกันสด ๆ จากรัง โดยที่ไม่ต้องไปหางานทำนอกพื้นที่กันเลย ส่วนการเลี้ยงผึ้งชันโรงก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพราะผึ้งหากินตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ต้องสร้างยกฐานให้สูงจากพื้นเพื่อกันฝน ส่วนวัสดุก็หาได้จากในพื้นถิ่น รวมถึงหารังผึ้งที่มีตามธรรมชาติ หรือซื้อต้นไม้ที่ผึ้งไปทำรังต่อจากชาวบ้าน แล้วนำมาผ่า เอากล่องไม้มาวางทับ เพื่อให้ผึ้งเข้าไปทำน้ำหวาน แล้วปิดคลุมด้วยถุงพลาสติกเพื่อง่ายต่อการเก็บน้ำผึ้ง ส่วนต้นทุนต่อรังราว 1,700 บาท แต่สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ตลอด หรือจนกว่าโพรงท่อนไม้จะผุสลายไปหมดนั่นเอง น้ำผึ้งชันโรงนั้นถือได้ว่าเป็นของหายาก เพราะธรรมชาติของผึ้งชันโรงจะผลิตน้ำผึ้งได้น้อยกว่าผึ้งทั่วไป และจะกินแต่เกสรจากดอกไม้ตามธรรมชาติเท่านั้น ทำให้ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ จึงกลายเป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งชันโรงที่มีคุณภาพ จนมียอดสั่งซื้อทั้งรังและน้ำผึ้ง ส่งขายแทบไม่ทันกันเลย ส่วนการเก็บน้ำผึ้งชันโรง ต้องใช้ความละเอียดเล็กน้อย เพราะต้องเจาะกระเปาะเก็บน้ำผึ้งเล็ก ๆ แล้วดูดขึ้นมาในลักษณะเก็บเล็กผสมน้อย อีกทั้งปัจจุบันมีการส่งเสริม และมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้กับชาวบ้าน ยิ่งทำให้มีการพัฒนา จนผลิตน้ำผึ้งที่มีคุณภาพและถูกสุขลักษณะมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนที่สำคัญ สรรพคุณของน้ำผึ้งชันโรงนั้น มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ด้านการแพทย์มากกว่า 200 ชนิด และผลยืนยันจากห้องแล็บหลังการเก็บตัวอย่างน้ำผึ้ง และดอกเสม็ดขาวที่มีมากในพื้นที่ซึ่งตรงกัน พบว่า มีสารต้านโรคมะเร็ง และต้านโรคอัลซไฮเมอร์ที่เข้มข้นในน้ำผึ้ง และช่วงเดือน กันยายน-ธันวาคม ที่ดอกเสม็ดขาวออกดอก พบว่าจากน้ำผึ้งที่เป็นสีเหลือง จะกลายเป็นสีเขียวมรกต และเมื่อผ่านกระบวนการหมัก-บ่มแล้ว จะขายน้ำผึ้งได้สูงถึงลิตรละ 5,000 บาท กันเลย ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงในจังหวัดนราธิวาสมากกว่า 300 ครัวเรือน พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วถึง 15 กลุ่ม ซึ่งล่าสุด มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ยื่นขอสิทธิบัตรในส่วนของกรรมวิธีการสกัดสารในน้ำผึ้งชันโรง รวมถึงกระบวนการลดความชื้น เพื่อช่วยลดระยะเวลาหมัก-บ่มน้ำผึ้งลง จาก 3 เดือน ลดเหลือ 5 วัน และได้ยื่นขอจดทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อนำองค์ความรู้ทั้งหมดส่งเสริมให้เป็นอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ต่อไปในอนาคต