สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายเรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นครั้งที่ 2
วันที่ 27 ก.ย. 2566 เวลา 20:09 น.
เวลา 12.53 น. วันนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บรมราชินีนาถ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทรงบรรยาย เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง หรือ อองโคจีเนซีส (Oncogenesis) พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ เป็นครั้งที่ 2 โดยทรงบรรยายหัวข้อ "อองโคยีน หรือ ยีนมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์" ซึ่งโรคมะเร็ง มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของยีนที่ควบคุมการเจริญและการแบ่งเซลล์ เช่น การกลายพันธุ์ กลายเป็นยีนที่สามารถก่อมะเร็ง หรือ อองโคยีน จะส่งผลให้เซลล์แบ่งตัวและเจริญอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถควบคุมได้ และกลายเป็นมะเร็ง ในการนี้ ทรงอธิบายการค้นพบอองโคยีน จากการศึกษายีนในไวรัสที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจพื้นฐานการเกิดมะเร็งในระดับโมเลกุลของมนุษย์ พร้อมทรงยกตัวอย่างให้เห็นภาพ และเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น จากนั้น ทรงบรรยายหัวข้อ "ยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง" หรือ ทิวเมอร์-ซัพเพรสเซอร์ ยีนส์ (tumor suppressor genes) ซึ่งทำหน้าที่ตรงข้ามกับอองโคยีน โดยสร้างโปรตีนยับยั้งการเจริญของเซลล์ แต่ถ้ายีนเหล่านี้ผิดปกติ เซลล์มะเร็งจะเพิ่มจำนวนอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เกิดมะเร็ง โดยทรงยกตัวอย่าง ยีน p53 ที่พบว่ามีการกลายพันธุ์บ่อยที่สุดในมะเร็งที่พบในมนุษย์ และตัวอย่างการศึกษาการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน p53 ในโรคมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ ช่วงท้าย ทรงสรุปเปรียบเทียบคุณลักษณะของ อองโคยีน และ ทิวเมอร์ ซัพเพรสเซอร์ ยีนส์ ให้นักศึกษาแพทย์ได้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งในระดับโมเลกุล ที่จะนำไปสู่การพัฒนายาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในอนาคต