ประกาศแล้ว "เมืองโบราณศรีเทพ" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก แห่งที่ 7 ของไทย

วันที่ 19 ก.ย. 2566 เวลา 15:36 น.

วาระสำคัญของคนไทยข่าวดี ล่าสุดเวลา 15.40 น. วันนี้ (19 ก.ย.66) ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ขององค์การยูเนสโก ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย รับรองเมืองโบราณ ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ทำให้ เมืองโบราณศรีเทพ กลายเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย และ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยในรอบ 30 ปี นอกจากเมืองโบราณศรีเทพแล้ว ยังมีโบราณสถานเขาคลังนอกและถ้ำเขาถมอรัตน์ ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมในครั้งนี้ด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการบรรจุเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำให้ไทยมีแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 7 เมืองโบราณศรีเทพ อยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเมืองที่มีคูเมือง กำแพงเมืองล้อมรอบ พื้นที่ประมาณ 2,889 ไร่  มีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง กรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองโบราณศรีเทพ ไว้ว่า เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรม ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมืองโบราณศรีเทพ  แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้ง  เพราะเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสานการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาค ที่มีพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณ ก่อตัวขึ้นจากชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักเมื่อ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว ความชาญฉลาดของมุษย์ในการเลือกที่ตั้งชุมชน ทำให้พื้นที่ เมืองโบราณศรีเทพ เป็นพื้นที่ที่สามารถควบคุมเส้นทางธรรมชาติที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านเทือกเขาเพชรบูรณ์ เปรียบเสมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างดินแดนด้านตะวันออกของที่ราบลุ่มภาคกลางกับดินแดนที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในเส้นทางการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านโลหะกรรมที่สำคัญของประเทศไทยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายและพัฒนาขึ้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้า และวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในที่สามารถเชื่อมโยงกับสถานีและเส้นทางการค้าทางทะเล ทำให้มีบทบาทสำคัญในการรับและส่งผ่านวัฒนธรรมไปยังเมืองโบราณร่วมสมัยเดียวกันในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น เมืองโบราณศรีเทพยังเป็นเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความสำคัญโดดเด่น ในพื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทย แสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู จนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเทวรูปรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งเทวรูปรุ่นเก่าที่พบจากเมืองโบราณศรีเทพ ได้แก่ พระนารายณ์ หรือ พระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก พระกฤษณะโควรรรธนะ เมืองโบราณศรีเทพเจริญรุ่งเรืองอยู่ราว 700 ปี จึงค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไปเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ในห้วงเวลาเดียวกับการล่มสลายของอาณาจักรเขมร พร้อมกับการเกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองใหม่ขึ้นทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สุโขทัย และในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เมืองโบราณศรีเทพลดบทบาทความสำคัญลง จนกระทั่งถูกทิ้งร้างในที่สุด ก่อนหน้านี้ ไทยได้รับการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก 6 แห่ง แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ ปี 2534 ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร ปี 2535 ขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปี 2537 ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร)  ส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ได้แก่ ปี 2534 ขึ้นทะเบียนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ปี 2548 ขึ้นทะเบียนผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ปี2564  ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน