กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ กรมสรรพากร ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน

วันที่ 19 ก.ย. 2566 เวลา 10:14 น.

“กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ กรมสรรพากร ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน” วันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ กรมสรรพากร ขอเชิญชวนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้โอกาสรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน โดยกรมสรรพากรได้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลัง วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2565 แต่ไม่เกิน วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2568 ซึ่งได้ว่าจ้างผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน นั้น นายอายุตม์ฯ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีการสนับสนุน ส่งเสริมทักษะการทำงานด้านต่างๆ ให้ผู้ต้องขัง มาโดยตลอด อาทิเช่น ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้า งานด้านช่างไม้ งานด้านการประกอบอาหาร งานบริการซักอบรีด งานบริการล้างทำความสะอาดรถ เป็นต้น ส่งผลให้ในปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์มีแรงงานวิชาชีพที่ได้รับการฝึกฝนทักษะ ส่งเสริมความรู้ความสามารถด้านต่างๆ และมีฝีมือดีอยู่เป็นจำนวนมาก  เมื่อผู้ต้องขังเหล่านี้พ้นโทษก็จะมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว ส่งผลให้ผู้พ้นโทษได้โอกาสมีงานทำ สร้างรายได้ รวมถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้มีแรงงานที่ผ่านการฝึกฝน ฝีมือดี มีวินัย เข้ามาเป็นแรงงานในองค์กร และยังสามารถยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ  โดยมีหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข ดังนี้ 1. รับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวออกเรือนจำ เป็นระยะเวลาไม่เกินสามปี นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัว 2. จัดทำรายงานเกี่ยวกับการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานที่จะนำมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเป็นรายเดือน ซึ่งต้องเก็บรักษารายงานและข้อความ รวมทั้งเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานไว้ ณ สถานประกอบการ พร้อมที่จะให้พนักงานประเมินตรวจสอบได้ 3. ต้องมีหลักฐานประกอบการปล่อยตัวของผู้พ้นโทษ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ อาทิ หนังสือสำคัญการปล่อยตัว (ร.ท.25)  หนังสือสำคัญการปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุก (ล.ว.ท.3) หนังสือสำคัญพักการลงโทษ (พ.7) หรือหนังสือสำคัญพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ (พ.8) นายอายุตม์ ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมราชทัณฑ์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกัน เปิดให้โอกาสผู้พ้นโทษได้เข้าทำงาน เพื่อเป็นการสร้างช่องทางการประกอบอาชีพให้แก่ผู้พ้นโทษให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2967 2222 ต่อ 537 กลุ่มงานส่งเสริมทักษะการทำงาน กองพัฒนาพฤตินิสัย