ไทยนิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอันดับ 9 ของโลก

วันที่ 13 ก.ย. 2566 เวลา 14:50 น.

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด เงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นหนึ่งตัวเลือกที่คนไทยนิยมบริโภค และติดอันดับ 9 ของโลก World Instant Noodles Association ระบุว่าไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปริมาณ 3,870 ล้านเสิร์ฟ เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยอันดับที่ 1 คือ จีนและฮ่องกง รองลงมา คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย และ บราซิล ตามลำดับ หากคำนวณจำนวนการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ยของคนไทยต่อประชากรในปีที่ผ่านมา คนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึง 55 เสิร์ฟต่อคนต่อปี  ถือเป็นอันดับสามของโลก โดยอันดับหนึ่ง คือ เวียดนาม 85 เสิร์ฟต่อคนต่อปี และ อันดับสองเกาหลีใต้ 77 เสิร์ฟ ต่อคนต่อปี ปี 2565 ที่ผ่านมาพบว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้าน เติบโตร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2564 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเส้นเหลือง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 94 ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด ผลมาจากการปรับราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองจากเดิมปกติ 6 บาท เป็น 7 บาท ตั้งแต่เดือน ส.ค.65 เป็นต้นมา ทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น “นโยบายภาครัฐที่อาจพิจารณาจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียม” หรือภาษีความเค็มอาจมีผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อาจมีการปรับราคาในอนาคตก็เป็นได้ ในขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาภาษีความเค็ม โดยเป็นการพิจารณาการเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียม คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,600 กรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งมากกว่ามาตรฐานที่แพทย์แนะนำคือที่ระดับ 2,000 กรัมต่อคนต่อวัน ดังนั้นกรมสรรพสามิตจึงสนใจที่จะเก็บภาษีความเค็ม เพื่อช่วยในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้บริโภคโซเดียมลดลง “แนวโน้มธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน” จากข้อมูลศูนย์วิจัยกรุงศรีพบว่าอาหารพร้อมทานแบบแห้งและแบบจัดวางบนชั้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.1% ของมูลค่าอาหารพร้อมรับประทานทั้งหมดในประเทศ ประกอบด้วย อาหารพร้อมทานแบบแห้งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.1 ของมูลค่าอาหารพร้อมรับประทานแบบแห้งและแบบจัดวางบนชั้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 78.7 ของมูลค่าอาหารพร้อมรับประทานแบบแห้ง อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปช่วงปี 2559-2563 ซึ่งเป็นช่วงแพร่ระบาดโควิด-19  การผลิตขยายตัวต่อเนื่อง ปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3-4 ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่แน่นอน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและเลือกซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งถือเป็นอาหารอีกทางเลือกหนึ่ง หากพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.2 ต่อปี หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 107.9 ส่วนมูลค่าส่งออกเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12.3 ต่อปี ทั้งนี้คาดว่าในปี 2566-2567 มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทานจะยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาค “ตลาดเอเชียตะวันออกเป็นฐานลูกค้ารายใหญ่สำหรับการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” อาทิ เกาหลีใต้นิยมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยปี 2565 มูลค่าการส่งออก 1.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.1 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ กัมพูชา สัดส่วนร้อยะ 23.2 ของมูลค่าส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด เมียนมา สัดส่วนร้อยละ 11.1 สหรัฐอเมริการ้อยละ 10.8 เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 9.6 และ สปป.ลาว ร้อยละ 8.7 ตามลำดับ การสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการเพิ่มรสชาติตามความนิยมของผู้บริโภคทั้งในตลาดไทยและตลาดต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งการคำนวณปริมาณการผลิตและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งแบบซอง ถ้วยและชาม เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่แบ่งตามช่วงอายุ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นของคนไทย ในช่วงค่าครองชีพสูง