กรมส่งเสริมวัฒนธรรม แจง 77 จังหวัด 77 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น คือ “รสชาติที่หายไป”

วันที่ 4 ก.ย. 2566 เวลา 08:53 น.
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ออกโรงแจงแล้ว หลังเกิด ดรามา 77 จังหวัด 77 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น หลายเมนูคนพื้นที่ยังไม่รู้จัก โดยย้ำเป็นวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการทำให้คนรุ่นใหม่ได้พบกับ “รสชาติที่หายไป” วันนี้ ( 4 ก.ย.66) จากกรณี กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ประกาศรายชื่อผลคัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ภายใต้โครงการการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย “รสชาติ...ที่หายไป The Lost Tasts”ประจำปี 2566 เพื่อเป็นการรวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ที่หารับประทานได้ยาก ยกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์ เป็นอาหารประจำจังหวัด ซึ่งปรากฎเมนูของหลายจังหวัดเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และมีข้อสงสัยของรายชื่ออาหาร ที่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่คุ้นและไม่รู้จัก ส่งผลให้ หลายจังหวัด ต่างออกมาชี้แจง อาทิ วัฒนธรรมจังหวัดยะลา แจงเมนูอาหาร ข้าวยำโจร 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นจังหวัดยะลา ว่า เป็นอาหารจานด่วนสมัยโบราณ หาทานยาก เร่งฟื้นฟูรสชาติที่หายไป สรรพคุณดีต่อสุขภาพ และข้อสงสัยในชื่ออาหารที่มีในโซเชียล นั้น ข้าวยำโจร ไม่ใช่โจรผู้ร้ายแต่อย่างใด โจรจะเป็นในลักษณะ ที่กินง่าย ร็วดเร็ว คลุกส่วนผสมเข้าด้วยกัน เปรียบเทียบคนสมัยก่อน เวลาจะไปทำนา ทำสวน ทำไร่ ถางป่า ก็จะเร่งรีบทานอาหาร เพื่อทำงานต่อ ข้าวยำโจรก็จะตอบโจทย์คนสมัยก่อน ด้วยเครื่องสมุนไพรหลากหลายชนิด ส่งผลต่อพละกำลัง ความสะดวกร็วดเร็วในการทำงานนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้าวยำโจร ก็จะเป็นอีกหนึ่งเมนูอาหาร ที่ทางสำนักงานวัฒนธรรมได้นำกลับมาเป็นเมนูที่สร้างสรรค์ในยุคปัจจุบัน ที่พร้อมตอบโจทย์ผู้บริโภค สามารถรับประทานควบคู่กับเครื่องเคียงต่างๆได้ตามความชอบ สำหรับความแตกต่างของข้าวยำโจร หรือ ข้าวยำคลุกสมุนไพร กับ นาซิกาบูดาระ ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม คือ ข้าวยำโจร จะใส่ขมิ้น ทำให้ได้ความเป็นเอกลักษณ์และรสชาติที่แตกต่างออกไป ด้าน วัฒนธรรมจังหวัดยโสธร ชี้แจงเมนู “อั๋วกบ” (กบยัดไส้) เป็นเมนูอาหารถิ่นของจังหวัดยโสธร ว่า เป็นเมนูที่ผ่านเกณฑ์ในการคัดเลือก ประกอบด้วย 1. ด้านวัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญของอาหารและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2. ด้านวิธีการปรุง เคล็ดลับ/ประวัติความเป็นมา 3. ด้านสุขภาพ /โภชนาการ /สมุนไพร 4. ด้านการสืบสานและถ่ายทอด และ 5. ด้านการเผยแพร่และพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งแม้หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือยังไม่เคยรับประทาน แต่ก็จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้รับทราบอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะรณรงค์ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในจังหวัดยโสธร ได้นำเมนู “อั๋วกบ” ต่อยอดเป็นอาหารถิ่นของจังหวัด คงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดยโสธร ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัดยโสธรต่อไป ขณะที่ วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เชิญชวน คนเที่ยวเมืองย่าโม ลองลิ้มชิมรสเมี่ยงคำ (โคราช) 1จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น โดยระบุ เมี่ยงคำ (โคราช) มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเมี่ยงคำในภาคกลางและภาคอื่นๆ คือ กระบวนการทำไส้ที่นำไปผัดและปรุงให้ได้รสอร่อยเสร็จแล้ว จึงนำมาห่อเป็นคำ ซึ่งเมี่ยงคำ (โคราช) จะราดด้วยน้ำกะทิ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของชาวโคราชแบบโบราณ และรับประทานเคียงกับพริกขี้หนูแห้งทอดกรอบ ขิงหั่นเต๋า หอมแดงหั่น คนโบราณนิยมทำเมี่ยงคำเป็นอาหารว่างทานเล่น และใช้ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียน การห่อเมี่ยงคำโดยใช้ใบทองหลางก็เป็นกุศโลบายภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน เพื่อให้ลูกหลานเด็กเล็กได้ทานเมี่ยงคำที่ห่อด้วยใบทองหลาง (กินเป็นยา) เพราะใบทองหลางมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยขับพยาธิ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการบำรุงรักษาธาตุทั้ง 4 ของร่างกายเพื่อให้สมดุลกัน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ชี้แจงถึงประเด็นดราม่าอาหารประจำถิ่น ว่า เพื่ออนุรักษ์อาหารพื้นบ้านให้อยู่คู่กับอาหารไทย และคู่บ้านคู่เมืองของไทย โดยรวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ที่หารับประทานได้ยาก มายกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์เป็นอาหารประจำจังหวัด อีกทั้งจัดทำเป็นสำรับอาหารประจำภาคทั้ง 4 ภาค เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้ และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารถิ่น ทั้งคาวและหวาน ซึ่งมีสรรพคุณหลากหลาย ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ สมุนไพร ด้านวิธีการปรุง เคล็ดลับและประวัติความเป็นมา เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าของอาหาร โดยต่อยอดจากวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรชุมชน ซึ่งการประกาศเมนูอาหารทั้ง 77 รายการ และอาหารบางชนิดคนในท้องถิ่นอาจไม่รู้จัก แต่ถึงกระนั้น นี่คือสิ่งที่ตอบวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การค้นหาเมนู “รสชาติ…ที่หายไป” อยากฟื้นกลับมา เมื่อคัดเลือกมาแล้ว ถือเป็นการปลุกกระแสทำให้คนในท้องถิ่นหันมาสนใจ และสร้างความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดนั้น ๆ