กรมประมง พัฒนาพันธุ์ประชากรปลาสลิด ช่วยลดระยะเวลาเลี้ยง ได้ปลาตัวใหญ่ขึ้น หวังราคาถูกลง
วันที่ 30 ส.ค. 2566 เวลา 10:40 น.
กรมประมง ปรับปรุงพันธุ์ปลาสลิด ช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยง เลี้ยงได้หลายรูปแบบ ได้ปลาตัวใหญ่ คุณภาพดี หวังราคาปลาถูกลง ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงมากขึ้น พร้อมช่วยอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดเศรษฐกิจของไทย วันนี้ (30 ส.ค.66) นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลาสลิด” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichopodus pectoralis Regan, 1910 เป็นปลาน้ำจืดพื้นถิ่นของไทย พบแหล่งอาศัยแพร่กระจายทั่วประเทศ โดยมีแหล่งเพาะเลี้ยงสำคัญอยู่ที่ราบลุ่มทางภาคกลาง ปลาสลิดเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่มักจะถูกแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาเค็ม และปลาแดดเดียว จำหน่ายในราคาสูงถึง 160-350 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปเป็นปลาสลิดไร้ก้างพร้อมรับประทานราคาสูง ซึ่งนับว่ามีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปลาน้ำจืดชนิดอื่น โดยจากข้อมูลผลผลิตสัตว์น้ำจืดของกรมประมง ในปี พ.ศ. 2565 ไทยมีผลผลิตปลาสลิดถึง 9,550 ตัน คิดเป็นมูลค่า 621.480 ล้านบาท แต่ด้วยการเลี้ยงปลาสลิดที่ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนานถึง 8-10 เดือน ทำให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาสลิดได้เพียง 1 รอบ/ปี จึงนิยมเลี้ยงในบ่อที่มีขนาดใหญ่เพื่อปล่อยปลาได้จำนวนมาก โดยทั่วไปบ่อเลี้ยงจะมีขนาดเฉลี่ย 3 ไร่ ใช้เวลาเลี้ยงนาน 8-10 เดือน ได้ปลาสลิดขนาด 10-12 ตัว/กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ย 500 กิโลกรัม/ไร่ กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร จึงมีแนวคิดในการปรับปรุงพันธุ์ปลาสลิดเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต เพื่อใช้ในการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เลี้ยงเชิงพาณิชย์ ลดระยะเวลาการเลี้ยง สามารถเลี้ยงได้หลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาสลิดได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มปริมาณผลผลิตปลาสลิดให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด กระบวนการปรับปรุงพันธุ์ปลาสลิด เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ด้วยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ จำนวน 2 รุ่น โดยใช้ปลาสลิดดอนนาจากจังหวัดปัตตานีเป็นประชากรเริ่มต้น คัดเลือกปลาที่มีน้ำหนักมากที่สุด 10 % จากประชากรทั้งหมดในแต่ละรุ่น มาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตพันธุ์ปลาสลิด ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงในพื้นที่ภาคใต้ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่าเมื่อนำปลาสลิดเลี้ยงในกระชังนาน 6 เดือน ที่ระดับความหนาแน่น 20 ตัว/ตารางเมตร ได้น้ำหนักเฉลี่ย 76.80 กรัม (13-14 ตัว/กิโลกรัม) ต่อมาในปี 2564 ได้นำวิธีการปรับปรุงพันธุ์ ด้วยการประมาณค่าศักยภาพทางพันธุกรรม (Estimate Breeding Value ;EBVs) มาใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประชากรเริ่มต้นจาก 4 แหล่ง ได้แก่ พิษณุโลก บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี และชุมพร เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม ตลอดจนมีการใช้เครื่องหมาย Passive integrated transponder (PIT TAG) เพื่อระบุข้อมูลสัตว์น้ำรายตัว ซึ่งช่วยให้เพิ่มความแม่นยำและเพิ่มความก้าวหน้าในการคัดเลือกได้มากขึ้น นอกจากนี้ กรมประมง ยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาสลิดดั้งเดิม เพื่อเก็บรักษาแหล่งพันธุกรรมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมปลาสลิด จังหวัดชุมพร ภายใต้แผนปฏิบัติงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ. สธ.) โดยได้รวบรวมปลาสลิดธรรมชาติจากตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร มาเพาะพันธุ์และอนุบาลให้ได้ลูกปลาขนาด 2 – 5 เซนติเมตร แล้วนำไปปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำดั้งเดิม โดยมีเป้าหมาย 50,000 ตัว/ปี สำหรับเกษตรกรท่านใดสนใจข้อมูลการเพาะเลี้ยงปลาสลิด สามารถติดต่อขอข้อมูลการเลี้ยงปลาสลิดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง โทรศัพท์ 077-510-310