ทช.เตรียมใช้มาตรการคุ้มครองปะการัง กำหนดข้อห้ามทำของนักดำน้ำเพิ่มเติม
วันที่ 24 ส.ค. 2566 เวลา 10:19 น.
ทช.เตรียมประกาศใช้มาตรการคุ้มครองปะการัง เพิ่มข้อห้ามนักดำน้ำ ไม่ว่าดำน้ำลึก น้ำตื้น เรียนดำน้ำ ต้องมีผู้ควบคุมนำลงใต้ท้องทะเล ห้ามเดิน ห้ามเตะพื้นท้องทะเล หวังเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมดูแลปะการัง สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลให้คงสภาพดีขึ้น วันนี้ (24 ส.ค.66) นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวทางทะเลมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่กิจกรรมบางอย่างและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมีส่วนทำให้บริเวณปะการังซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญเกิดความเสื่อมโทรมทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เรือท่องเที่ยวทิ้งสมอลงบนปะการัง นักท่องเที่ยวทิ้งขยะ นักดำน้ำจับหรือยืนเหยียบปะการังขณะดำน้ำทำให้ปะการังแตกหักเสียหาย รีสอร์ทหรือโรงแรมระบายน้ำเสียลงสู่ทะเลทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อปะการังในบริเวณนั้น ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เร่งหารือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. .... โดยอาศัยความตาม มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความเสียหายที่เกิดกับแนวปะการังอันเกิดจากการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำเป็นการเฉพาะและเพื่อควบคุมกำกับดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีมากขึ้น แต่คนควบคุมนำเที่ยวอย่างถูกวิธีไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจล่าสุดในปี 2565 พบแนวปะการังมีสถานภาพดีกว่าในช่วงปี 2563 - 2564 และมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย โดยในปี 2565 พบแนวปะการังสถานภาพสมบูรณ์ดีร้อยละ 53 สมบูรณ์ป่านกลางร้อยละ 22 และสถานภาพเสียหายร้อยละ 25 ทั้งนี้ มาตรการที่เป็นข้อกำหนดสำคัญสำหรับ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว มีข้อกำหนดในการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ทั้งการดำน้ำตื้น การดำน้ำลึก และการเรียนดำน้ำลึก ซึ่งแต่ละประเภทของกิจกรรมดังกล่าวต้องมีผู้ควบคุมต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม และข้อกำหนดเพื่อให้เกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดีหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลในการท่องเที่ยวดำน้ำ เช่น ห้ามเตะ หรือสัมผัสปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ห้ามดำเนินกิจกรรม SeaWalker หรือโดยวิธีอื่นใดที่มีลักษณะเป็นเดินหรือเคลื่อนที่บนพื้นทะเล ห้ามผู้ควบคุมหรือผู้ช่วยผู้ควบคุมเคลื่อนย้ายปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ มาให้นักท่องเที่ยวดู ในการใช้ตีนกบห้ามมิให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของตีนกบสัมผัสปะการังหรือทำให้ปะการังได้รับความเสียหาย ห้ามให้อาหารปลาหรือสัตว์น้ำ ห้ามไม่ให้ทิ้งขยะหรือปล่อยของเสียทุกชนิดในทะเล และห้ามมิให้ทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง เป็นต้น หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะดำเนินการพิจารณาตรวจทานหรือปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ ก่อนการเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนาม อย่างไรก็ตาม หากประกาศฯ ใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ กรม ทช. จะสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกแห่ง เร่งประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำ และกลุ่มเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง เข้าใจถึงกฎ ระเบียบ ในการคุ้มครองทรัพยากรปะการัง นายอภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะเวลาการบังคับใช้มีกำหนด 5 ปี และไม่ใช้บังคับกับกิจกรรมที่มิใช่กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เช่น การดำน้ำเพื่อการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การดำน้ำเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภายใต้การกำกับของหน่วยงานพื้นที่ที่รับผิดชอบ “ตนขอฝากถึงพี่น้องประชาชนหากพบเห็นการกระทำผิดดังกล่าวขอให้แจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทช. จะเพิ่มกำลังพลตรวจตราพื้นที่ สร้างเครือข่ายประชาชนให้มีส่วนร่วมและช่วยกันเป็นหูเป็นตาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หากยังคงสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เราคงต้องใช้กฎหมายดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” นายอภิชัยกล่าว