พ่อ-แม่ น้องเอวา อธิบายสาเหตุ ยกลูกให้คนอื่นเลี้ยง
วันที่ 24 ส.ค. 2566 เวลา 04:18 น.
เช้าข่าว 7 สี - พ่อและแม่ของทารกอายุ 8 เดือน หรือ น้องเอวา ออกมายืนยันว่าไม่ได้ขายลูกกิน แต่คนที่รับไปเลี้ยงเสนอเงิน 30,000 บาท เพื่อปลดหนี้สินให้ ส่วนที่น้องเสียชีวิตต้องเอาผิดคนรับไปเลี้ยงมากกว่านี้ พ่อ-แม่ น้องเอวา อธิบายสาเหตุ ยกลูกให้คนอื่นเลี้ยง พ่อและแม่ของน้องเอวา ไปร้องขอความช่วยเหลือกับเพจสายไหมต้องรอด ขอให้ประสานตำรวจเอาผิดเพิ่มกับหญิงที่อ้างว่าเป็นครู รับน้องเอวาไปอุปการะ แต่ผ่านไปแค่ 2 วัน น้องกลับเสียชีวิตอย่างผิดปกติ ตามร่างกายมีร่องรอยฟกช้ำทั่วทั้งตัว และแม้ว่าตำรวจจะนำตัวไปดำเนินคดีแล้ว แต่ข้อหาที่เอาผิดเพียงแค่กระทำโดยประมาทปล่อยปละละเลยเด็ก จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ที่มาร้องครั้งนี้ก็เพราะต้องการให้ตำรวจแจ้งข้อหาหนักกว่านี้ ทั้งนี้ พ่อและแม่น้องเอวายืนยันว่า ไม่ได้ขายลูกกิน พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า มีลูกสาว 2 คน คนโตอายุ 2 ขวบ และคนเล็กอายุ 8 เดือน ซึ่งช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมีปัญหาด้านการเงินเพราะตกงาน สามีต้องทำงานเพียงคนเดียว เงินจึงไม่พอใช้ ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบช่วงก่อนคลอดมา 20,000 บาท เมื่อคลอดเสร็จก็ไปกู้ยืมมาเพิ่มอีก 10,000 บาท ด้วยความที่หมดหนทาง ไม่อยากให้ลูกต้องอดนม และอยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี จึงโพสต์กลุ่มเฟซบุ๊ก "หาคนอุปการะเด็ก" จากนั้นก็มีคนติดต่อมาหลายคน แต่เงื่อนไขของทุกคนนั้นไม่น่าสนใจ เพราะทุกคนให้ตนและสามีตัดขาดความเป็นพ่อแม่จากลูกไปเลย กระทั่งมีหญิงสาวคนหนึ่งติดต่อมา อ้างว่าเป็นครูโรงเรียนเอกชน พร้อมกับเสนอเงื่อนไขว่า ตนและสามีสามารถมาเยี่ยมเยียนลูกได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ พอเห็นดังนั้นตนจึงสนใจ และได้มีการนัดเจอกัน ซึ่งครูก็ได้ถามเหตุผลว่าทำไมถึงอยากหาคนอุปการะเลี้ยงลูก ตนจึงบอกไปว่าตนมีปัญหาด้านการเงินและมีหนี้สิน 30,000 บาท ครูจึงเสนอที่จะปลดหนี้ให้ โดยมีการทำสัญญาระบุชัดเจนว่าจะแบ่งจ่าย 3 งวด แต่พอรับลูกไปได้เพียง 2 วัน ลูกก็เสียชีวิต หลังจากนั้น พ่อและแม่น้องได้ไปที่แฟลตของครูคนดังกล่าว แต่เข้าไปไม่ได้ เพราะครูถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีแล้ว จากนั้นก็เชิญดวงวิญญาณน้องกลับบ้าน และเดินทางไปรับศพเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนา คืบหน้า พม. สอบเอาผิดซื้อขายทารก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ตรวจสอบแล้ว เตรียมเอาผิดทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองของทารกอายุ 8 เดือน รวมไปถึงหญิงที่รับเด็กไปอุปการะเลี้ยงดู เพราะการทำสัญญา ยกเด็กให้อุปการะ โดยไม่ผ่านกระบวนการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ผิดกฎหมายชัดเจน ยิ่งมีเรื่องของค่าตอบแทนที่ยกเด็กให้ด้วย เข้าข่ายการซื้อขายเด็ก กรณีนี้ สะท้อนปัญหาที่น่าเป็นห่วงของครอบครัวเวลานี้ จากสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีค่านม ค่าอาหาร เงินไม่พอเลี้ยงดูลูก แต่ พม. ขอให้เป็นอุทาหรณ์กับครอบครัวที่มีปัญหานี้ ให้ไปที่บ้านพักเด็กและครอบครัวของ พม. ที่มีอยู่ในทุกจังหวัด เพื่อขอรับความช่วยเหลือค่านมลูก และเครื่องอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ พม. ยังพร้อมให้คำแนะนำหาทางออก ช่วยเหลือเรื่องลูกอย่างถูกต้อง ให้เด็ก ๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเติบโตตามวัย โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของเด็ก ๆ เป็นสำคัญ