ขอลากิจ นายจ้างไม่อนุญาต อ้างไม่ใช่ธุระจำเป็น

วันที่ 17 ส.ค. 2566 เวลา 15:03 น.

จากเหตุการณ์พนักงานบริษัทขอลาไปดูใจแม่ แต่ฝ่ายบุคคลไม่ให้ลา สุดท้ายแม่เสียชีวิตขอลากลับบ้าน ถูกฝ่ายบุคคลให้มาเขียนใบลาออกนั้น ตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 34 ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา ส่วนบริษัทใดจะกำหนดวันลากิจมากกว่า 3 วันก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่บางครั้งลูกจ้างขอลากิจแล้ว แต่นายจ้างบอกกว่าไม่ใช่กิจธุระอันจำเป็น จนเกิดความสงสัยว่ากรณีใดบ้างถือเป็นเหตุเพื่อกิจธุระอันจำเป็น และนายจ้างมีหลักพิจารณาอย่างไร? เพราะบางบริษัทกำหนดข้อบังคับหรือข้อตกลงการจ้างงานเพียงว่า ลากิจ ต้องแจ้งล่วงหน้าให้นายจ้างพิจารณาและอนุมัติก่อน จึงถือเป็นการลากิจที่ถูกต้อง โดยไม่ได้กำหนดนิยามว่าเหตุอะไรบ้างที่สามารถลากิจได้ ลูกจ้างก็คิดว่าเป็นกิจธุระส่วนตัวจริงๆ ที่ไม่สามารถให้คนอื่นไปทำแทนได้ หรือกรณีที่กิจธุระมันด่วนและจำเป็น รออนุมัติไม่ไหว จึงยื่นลาเสร็จแล้วไปเลย กรณีลักษณะนี้มีข้อแนะนำในทางกฎหมายว่า 1. พิจารณาว่า ลูกจ้างได้ยื่นลากิจล่วงหน้า เพื่อให้นายจ้างพิจารณาตามระเบียบแล้วหรือไม่ 2.แจ้งเหตุแห่งความจำเป็นที่ต้องหยุดงานคืออะไร มีเอกสารหลักฐานส่งแนบมาด้วยหรือไม่  3.แจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถรออนุมัติหรือไม่ หากทำครบถ้วนแล้ว การที่นายจ้างออกใบเตือนและเลิกจ้างจึงเป็นคำสั่งไม่ชอบ ซึ่งเคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 613/2529 ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้าง เนื่องจากเห็นว่าการที่โจทก์ยื่นใบลากิจส่วนตัวต่อจำเลยโดยแนบโทรเลข ที่ได้รับจากญาติให้โจทก์กลับบ้านด่วนนั้น เป็นการยื่นใบลาพร้อมทั้งชี้แจงเหตุจำเป็น ซึ่งไม่อาจรอฟังคำสั่งอนุญาตจากจำเลยถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว แม้ธุรกิจการงานที่โจทก์ลาไปทำนั้นเป็นเพียงไปกู้เงินให้พี่ชายไปทำงานต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่โจทก์เพิ่งทราบภายหลัง จำเลยจะถือเป็นข้ออ้างไม่อนุมัติใบลาของโจทก์ไม่ได้  ในทางตรงกันข้ามถ้าลูกจ้างไม่แม้แต่จะปฏิบัติตามระเบียบ เช่น นึกขึ้นได้ว่ามีกิจจำเป็นก็ขาดงาน ไม่ไปบริษัทเลย แบบนี้แม้ลาไปทำกิจธุระจริงๆ ก็ถือว่าหยุดโดยไม่มีหตุผลสมควรและมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวบการทำงานของนายจ้าง ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงาน อย่างไรก็ตาม แม้ในทางกฎหมายไม่ได้กำหนดนิยามคำว่า ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น แต่กระทรวงแรงงานมีคำชี้แจง เรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 อธิบายถึง “กรณีลูกจ้างมีกิจธุระอันจำเป็นที่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง” หรือ “ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นของครอบครัว” โดยได้ยกตัวอย่างไว้ เช่น - ทำบัตรประจำตัวประชาชน - ทำใบอนุญาตขับขี่ - จดทะเบียนสมรส - ลาอุปสมบท - ลาปฎิบัติธรรมทางศาสนาตามธรรมเนียมปฎิบัติ - จัดงานศพบุคคลในครอบครัว - จัดงานสมรสบุตร - จัดงานอุปสมบท - เป็นต้น ซึ่งการลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นอาจมีกรณีอื่นที่นอกจากตัวอย่างข้างต้นได้ โดยในทางปฎิบัติกรณีใดบ้างที่จะถือเป็นเหตุลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นและจะต้องปฎิบัติอย่างไร สามารถกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ชัดเจนและเป็นธรรม หรือดำเนินการตามธรรมวิธีปฎิบัติที่เป็นธรรมตามที่ได้ถือปฎิบัติกันมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไปฟ้องร้องกันวุ่นวายได้