เปิดประเด็น : ทวงสัญญาควบรวม ทรู-ดีแทค ลดค่าบริการ 12 %
วันที่ 15 ส.ค. 2566 เวลา 11:22 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ช่วงเปิดประเด็นวันนี้ ชวนคุณผู้ชมติดตามเรื่องใกล้ตัว เกี่ยวกับอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือ หลังการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และดีแทค ล่วงเลยมานาน เกินกว่า 150 วัน มีการปฏิบัติตามสัญญาว่า จะปรับลดอัตราค่าบริการลงเฉลี่ย 12% ภายในระยะเวลา 90 วันหรือยัง ประชาชนเขาทวงถามกันมา ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ก็ได้ร่อนหนังสือทวงถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เกี่ยวกับ มาตรการเฉพาะ หลังการควบรวมกิจการของทั้ง 2 ค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ ทั้งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่ครั้งนั้นมีการกำหนดเงื่อนไข หรือ กฎเหล็ก ให้มีการลดเพดานค่าบริการให้ผู้บริโภคลง 12% หลังทั้ง 2 ค่ายควบรวมกิจการแล้ว 90 วัน โดยทำหนังสือสอบถามถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนพฤษภาคม และตอกย้ำอีกรอบในเดือนมิถุนายน จากนั้นวันที่ 9 กรกฎาคม นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ทำหนังสือตอบกลับมาว่า อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบการกำหนดอัตราค่าบริการที่จะต้องลดลงร้อยละ 12 โดยวิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย ได้ผลอย่างไรจะแจ้งให้ทราบภายหลัง ซึ่งนี่ก็ผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งเดือนยังไม่มีผลสรุปการตรวจสอบจาก กสทช. ว่าได้ความอย่างไร ผู้บริโภคจะได้ใช้บริการถูกลงหรือไม่ ขณะที่สัญญาที่ทางบริษัทฯ เคยให้ไว้ว่าจะทำภายใน 90 วัน ก็ผ่านพ้นไปตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีวี่แววการลดราคา สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ใช้บริการ 55 ล้านเลขหมาย เสียประโยชน์ที่ต้องได้รับไปกว่า 70 วันแล้ว ซึ่งก่อนที่จะมีการควบรวมกิจการ ก็มีการคัดค้านจากหลายฝ่าย ไปยัง กสทช. ว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทค อาจสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศ แต่เสียงของประชาชนกลับไม่ดังพอ มีคนสะกิดให้สังเกตดี ๆ โพรโมชัน "เน็ตไม่อั้น ราคาไม่แรง" เริ่มหายไป สะท้อนว่าผู้ใช้บริการเริ่มมีตัวเลือกลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสโลแกน "ดีกว่าเมื่อมีกันและกัน" ยังไม่เป็นไปอย่างที่มีการโฆษณา ความล่าช้าในการกำกับดูแลของ กสทช. ไม่เพียงส่งผลต่อผู้บริโภคเท่านั้น แต่จะกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะนำไปสู่การอนุญาตควบรวมกิจการระหว่าง AIS กับ 3BB ในอนาคต หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า กสทช. กำลังทำอะไรอยู่ หรือ มัวปัดกวาดปัญหาภายในองค์กร กระทั่งลืมปัญหาประชาชน ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกกำลังตกอยู่ในสถานะถูกลอยแพ