ภาคเอกชน อยากให้จัดตั้งรัฐบาลให้จบภายในเดือนนี้ ยิ่งช้ายิ่งกระทบเศรษฐกิจ

วันที่ 2 ส.ค. 2566 เวลา 14:48 น.

ภาคเอกชน อยากเห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่เร็ว ๆ การจัดตั้งรัฐบาล ทุกอย่างต้องจบและชัดเจนภายในเดือนสิงหาคมนี้ หากล่าช้ายิ่งกระทบเศรษฐกิจ วันนี้ (2 ส.ค.66)  คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมคณะกรรมการประจำเดือนสิงหาคม หลังการประชุม กกร. ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้  โดยมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้โตเพียง 3%  ขณะที่ต้องเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพียง 6.3% ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 7.3% ดังนั้น ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ สำหรับเศรษฐกิจไทย ต้องเผชิญกับความท้าทาย ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจโลกชะลดตัวลง แต่ปัญหาเศรษฐกิจภายในยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่  และยังมีความกังวลด้านการเมือง โดยภาคเอกชนต้องการเห็นรัฐบาลชุดใหม่เร็ว ๆ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน  การส่งออก และจัดทำกรอบงบประมาณ นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาด ปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง ม.ค.-ก.ค. 66 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40% เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนในอยู่ในระดับวิกฤตใน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง ประเมินว่าภัยแล้งอาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท จึงต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 66 ถึงครึ่งแรกของปี 67 ดังนั้น คาดว่าจีดีพีในปี 66 จะอยู่ที่ 3.3.5% ส่งออกจะติดลบอยู่ที่ 1-0% เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7-3.2 เป็นต้น นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีการติดตามและเฝ้าดูในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะออกมาอย่างไร โดยคาดหวังว่าน่าจะจบและเห็นรัฐบาลชุดใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หากมีรัฐบาลใหม่ได้จริงก็จะทำให้แผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยวจะกลับมาดีเพิ่มขึ้น ยิ่งยืดเยื้อแม้จะดูว่าท่องเที่ยวดีแต่จะเป็นการท่องเที่ยวแบบใช้จ่ายเงินน้อยลงเพราะไม่มั่นใจการเมือง รวมทั้งเวลานี้ภาคการส่งอออกของไทยก็ติดลบมาถึง 9 เดือนแล้ว หากการจัดตั้งรัฐบาลช้าจะยิ่งทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในหลายๆด้านจะกระทบไปด้วย และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคไหนภาคเอกชนก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าอยู่แล้ว