หาก พท.จัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร. “ปิยบุตร” ยกข้อเขียนปี 65 วิเคราะห์ไว้แม่นยำ

วันที่ 28 ก.ค. 2566 เวลา 17:29 น.
ฝ่าย ปชต. ทะเลาะกันเองจนอ่อนกำลังลง “ปิยบุตร” ยกข้อเขียนปี 65 วิเคราะห์ไว้แม่นยำ หาก พท.จัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร. หรือพรรคอื่นที่มีคราบไคล คสช. ก้าวไกลไม่เอาด้วย แต่ประชาธิปไตยไม่เสียหาย จะเกิดขั้วทางเลือกใหม่ขึ้นเพื่อคานระบบ จัดตั้งรัฐบาล วันนี้ (28 ก.ค.66 )นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นำข้อเขียนที่เคยเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.65 เรื่องการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของฝ่ายประชาธิปไตย กลับมาเผยแพร่ใหม่อีกครั้ง โดยระบุว่าน่าจะเข้ากับสถานการณ์การเมืองไทยในเวลานี้ ซึ่งข้อความตอนหนึ่ง นายปิยะบุตรเคยระบุว่าหลายคนกังวลว่า การถกเถียงกันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย อาจส่งผลกระทบต่อ “ฝ่ายประชาธิปไตย” อาจทำให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. สบายใจกว่าเดิมที่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ทะเลาะกันเองจนอ่อนกำลังลง ผู้สนับสนุนบางกลุ่มของทั้งสองพรรคเห็นกันไปถึงขนาดว่า สองพรรคนี้ คือ คู่แข่งกันในการเลือกตั้งครั้งหน้า และไม่คิดว่าจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลด้วยกัน นายปิยบุตร อยากชวนให้มองมุมใหม่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” พัฒนาการมาอย่างไร? เป็นเนื้อเดียวกันมาแต่แรกหรือไม่? เมื่อสถานการณ์ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันนี้ คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” นี้ เปลี่ยนไปอย่างไร? ยังใช้การได้อีกหรือไม่? -ประชาธิปไตย ต้องยึดมั่นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ละฝักฝ่ายย่อมมีโอกาสในการรณรงค์ให้ผู้คนมาเห็นด้วยกับตน เปลี่ยนใจให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหันมาเห็นด้วย -ประเทศที่ยึดหลักประชาธิปไตยแบบพหุนิยม ก็ต้องยอมรับให้มีพรรคการเมืองหลายพรรค และเมื่อเป็นคนละพรรคการเมือง ก็ย่อมมีความคิด อุดมการณ์ แนวทางการดำเนินการ บุคลิก ลักษณะ ที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา -หากทุกพรรคการเมือง คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน นโยบายเหมือนกัน อุดมการณ์เหมือนกัน ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องรวมตัวกันก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองที่หลากหลาย ก็รวมกันเป็นพรรคการเมืองเดียวไปเสียเลย เว้นแต่ว่าต้องการแยกพรรคออกมาเป็น พรรคนอมินี พรรคลูก พรรคแตกแบงก์พัน ข้อความตอนหนึ่ง อ.ปิยบุตร ระบุว่า พรรคอนาคตใหม่ในวันก่อน พรรคก้าวไกลในวันนี้ ก่อตั้งขึ้นตามความคิดอุดมการณ์ ต้องการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ในประเทศไทย ที่ไม่ใช่เป็นเพียงพรรคเลือกตั้ง ที่ระดมนักการเมืองมาให้ได้ สส.มากๆ เพื่อไปแลกรัฐมนตรี โดยไม่ได้พิจารณาถึงเฉดความคิดอุดมการณ์ เราต้องการเข้าไปมีอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ มิใช่เข้าไปหาเงินทอน เอาทุนมาทำการเมืองต่อ หรือปกป้องประโยชน์กำไรของพวกพ้องหรือธุรกิจ เราต้องการหยุดการสืบทอดอำนาจ คสช. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน ปฏิรูปกองทัพ ศาล ระบบราชการ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทลายทุนผูกขาด สร้างเศรษฐกิจใหม่ กระจายทรัพยากรและอำนาจให้คนส่วนใหญ่ สนับสนุนเสรีภาพ ความหลากหลาย ทั้งหมดนี้ จึงเป็นธรรมดาพรรคก้าวไกลในวันนี้ มี “อัตลักษณ์ทางการเมือง” มีเฉดสีความคิดอุดมการณ์ เป็นของตนเอง แยกและแตกต่างออกจากพรรคอื่นๆอย่างชัดเจน แน่ล่ะในการต่อสู้ทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง และผ่านขบวนการมวลชน บางครั้งบางช่วงเวลา ก็ต้องร่วมมือกันกับพรรคอื่นๆ กลุ่มอื่นๆ เพื่อเป้าหมายหลักร่วมกันอันจำเป็นในสถานการณ์เฉพาะหน้า บางกรณี ก็มีประเด็นที่เห็นร่วมกันกับพรรคอื่น บางกรณี ก็เห็นต่าง แล้วก็ถกเถียงรณรงค์กันไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ประเด็นต่อมา นายปิยบุตรอยากชวนทำความเข้าใจถึงส่วนต่างๆ ภายใน “ฝ่ายประชาธิปไตย” ซึ่งค่อยๆ ก่อตัวขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยย่อมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เพราะเป็นรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่พวกเขาสับสนุน แต่มีคนอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลไทยรักไทย ไม่ได้เลือก ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็ร่วมต่อต้านรัฐประหาร 49 ด้วย เพราะไม่ยอมรับวิธีการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจปกครองประเทศ เมื่อมีการเลือกตั้ง 23 ธค 50 ฝ่ายไม่ยอมรับรัฐประหาร 49 จึงแสดงออกผ่านการเลือกพรรคพลังประชาชน จนจัดตั้งรัฐบาลได้ต่อมามีการล้มรัฐบาลด้วยวิธีการผิดปกติ ในปลายปี 51 มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ตามมาด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรครวม 109 คน ทำให้นักการเมืองหลายกลุ่มตัดสินใจ “สลับข้าง” สนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล ต่อด้วยการชุมนุม 52 การชุมนุม เมษา พฤษภา 53 และการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน เมื่อถึงการเลือกตั้งในปี 2554 “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่ไม่ยอมรับรัฐประหาร 49 ไม่ยอมรับการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีผิดปกติ ก็แสดงออกผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง ด้วยการลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย จนจัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และวันที่ 22 พ.ค.2557 คสช.ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนเมื่อต้นปี 2561 มีการรวมตัวกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และลงเลือกตั้งครั้งแรกในเดือน มี.ค. 62 แกนผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ สมาชิกรุ่นก่อตั้งจากทั่วประเทศ ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ นักวิชาการ ปัญญาชน หรือเรียกว่าคนจำนวนมากที่เข้ามารวมกันหลวมๆ แต่เป้าหมายเดียวกัน คือ ไม่เอารัฐประหาร 57 ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาต้องเห็นดีเห็นงามกับพรรคเพื่อไทยไปทั้งหมด หรือพรรคก้าวไกลไปทั้งหมด คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” จึงมีความหมายกว้างขวางมาก ไม่อาจพิจารณาในลักษณะ “ขั้ว” เดียว ที่คิดเหมือนกันทั้งหมด และคำๆนี้ ก็ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบไปมาก หลังจากมีพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล เราจะอาศัยข้อเท็จจริงเพียงว่า เป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นเสียงข้างมาก แล้วผูกขาดคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่ได้ หากประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด ในประเทศนี้ อยากเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” แล้วต้องถูก “ล้อมคอก” ด้วยการสนับสนุนพรรคที่ชนะการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว ไม่วิจารณ์ ไม่หือ ไม่อือ พรรคทำอะไรก็ต้องเคารพบูชาไปตามกันหมด สิ่งใดที่พรรค แกนนำพรรค ตัดสินใจแล้ว ก็ถือว่าเป็นที่สุด วิจารณ์โต้แย้งไม่ได้ แบบนี้ก็คือการเอาคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไปผูกขาดใช้กันเอง คือการลดทอนคุณค่าประชาชนผู้อิสระเสรี ทรงอำนาจสูงสุด ให้กลายเป็นเพียง “แฟนคลับ” พรรคการเมือง ประเด็นปัญหาของการถกเถียงกันระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ จะจบลงทันที หากหลังการเลือกตั้ง 66 พรรคเพื่อไทยร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หรือกับพรรคอื่นชื่อใดที่มี “คราบไคล” ประยุทธ์/ประวิตร/คสช. ซึ่งผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลคงไม่เข้าร่วมแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้น เราคงไม่ต้องมาเถียงกันระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” การต่อสู้ระหว่างขั้วการเมืองชุดใหม่ จะเริ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ซึ่งอาจเป็น 2 ขั้ว อาจเป็น 3 ขั้วหรือ 4 ขั้วก็ได้ หากเป็นเช่นนี้ ก็ไม่เห็นว่า ประชาธิปไตยไทยจะเสียหายทรุดโทรมตรงไหน ตรงกันข้าม ยิ่งดีเสียอีก ประชาชนจะได้มีทางเลือกมากขึ้น แนวโน้มการเมืองของหลากหลายประเทศบอกเราว่า การเมืองแบบ “ทวิพรรค” หรือ “ทวิขั้ว” อาจดูมีเสถียรภาพ มีรัฐบาลเข้มแข็ง แต่เนื้อในนั้น อาจไม่มีความแตกต่างในสาระสำคัญระหว่างพรรคหรือขั้ว จนกลายเป็นว่า เลือกขั้วใดไปก็ไม่ต่างกันมากนัก และจะเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น ถ้า “ทวิพรรค” หรือ “ทวิขั้ว” สมรู้ร่วมคิดกันภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกันของ “ชนชั้นนำทางการเมือง” ดังนั้น การเมืองในหลากหลายประเทศ จึงเกิดขั้วทางเลือกใหม่ขึ้นเพื่อคานระบบทวิพรรคที่หัวต่างกันแต่ก็ครองร่างกายการเมืองแบบเดิมแบบเดียวกัน