มาเลเซียสนับสนุนความร่วมมือขยายธุรกิจแฟรนไชส์กับไทย
วันที่ 27 ก.ค. 2566 เวลา 16:43 น.
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด มาเลเซียสนับสนุนความร่วมมือขยายธุรกิจแฟรนไชส์กับไทย ซึ่งมาเลเซียถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย โดยเฉพาะสาขาอาหารและเครื่องดื่ม กระทรวงพาณิชย์ระบุว่ามาเลเซียมีความสนใจที่จะร่วมมือเพื่อส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์กับไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มจากการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่าย เพื่อสร้างโอกาสขยายพันธมิตรทางการค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย โดยเฉพาะสาขาอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้เป็นกระตุ้นการค้าชายแดนระหว่างประเทศ ทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายแดนและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 102,000 ล้านบาท ในปี 2568 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยว่าจะมีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ “อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มตีตลาดอาเซียน” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาภายหลังการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม/เบเกอรี เครื่องใช้และเครื่องประดับ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพบว่า ในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ธุรกิจแฟรนไชส์ในมาเลเซีย มีมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านริงกิต คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 3-4 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่จดทะเบียนกับกระทรวงการค้าภายในและกิจการผู้บริโภค (Ministry of Domestic Trade and Consumer Affairs: KPDNHEP) มากกว่า 877 บริษัท/แบรนด์ ธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศ แฟรนไชส์ของต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ครองตลาดสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ข้อมูลสำคัญ คือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในมาเลเซีย โดยอยู่ที่ระดับ 10,057 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งถือว่าฐานผู้บริโภคมีกำลังซื้อในตลาดอาเซียน ชาวมาเลเซียที่เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อปีมีจํานวนมากกว่า 3 ล้านคน ชาวมาเลเซียมีความคุ้นเคยและนิยมเลือกซื้อสินค้าและบริการของไทย นอกเหนือจากมาเลเซียแล้วนั้นอินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ผู้มีกำลังซื้อเป็นชนชั้นกลางที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ฐานผู้บริโภคหลากหลายช่วงอายุ แสดงถึงโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กของไทย อย่างไรก็ตามทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียมีกฎหมายควบคุมแฟรนไชส์ที่มีความเข้มแข็ง ผู้ประกอบการต้องศึกษาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมาย พร้อมทั้งปรับให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีทางศาสนาที่เหมาะสมด้วย ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มมีโอกาสขยายตัวในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน