ครั้งแรก! นวัตกรรมเครื่องปรุงรส "ซีอิ๊วกลิ่นน้ำปลา" รสชาติถูกปากคนไทย
วันที่ 27 ก.ค. 2566 เวลา 10:17 น.
มหิดล วิจัยพัฒนานวัตกรรมเครื่องปรุงรส ซีอิ้วกลิ่นน้ำปลา ผลิตจากพืชธรรมชาติ ทดสอบสำรวจรสชาติแล้วผ่าน ถูกปากคนไทย กินแล้วสุขภาพดี ต้นกำเนิดของ "ซีอิ๊ว" (Soy Sauce) เครื่องปรุงรสที่อยู่คู่อารยธรรมโลกมานานนับหลายพันปีอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน จากการหมักของถั่วเหลืองกับเกลือจนกลายเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญของ "ตำรับอาหารจีน" ที่สืบทอดกันมาในปัจจุบัน ในขณะที่ "น้ำปลา" (Fish Sauce) คือองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้สำหรับ "ตำรับอาหารไทย" ซึ่งปรากฏใน "จดหมายเหตุลาลูแบร์" ตั้งแต่สมัยอยุธยา นางสาวญาณิศา ทับเจริญ นักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ นางสาวศิริกัญญา ลับแล นักศึกษาจากภาควิชาและคณะเดียวกัน และนางสาวมณีรัตน์ เตชะวิเชียร ผู้ช่วยวิจัยในการพัฒนา ซีอิ้วกลิ่นน้ำปลา (PB Healthy Sauce) เครื่องปรุงรสจากการหมักของพืชจากธรรมชาติ แต่งกลิ่นน้ำปลา เพื่อให้ถูกปากคนไทย โดยมีส่วนผสมหลักที่อุดมไปด้วยถั่วเหลืองเกษตรอินทรีย์ จากแหล่งปลูกที่สำคัญทางภาคเหนือของประเทศไทย และเสริมด้วยวิตามินธรรมชาติ "บี 12" จากสาหร่าย นับเป็นครั้งแรกของการพัฒนาเครื่องปรุงรสจากการหมักพืชจากธรรมชาติ เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร "ซีอิ๊วกลิ่นน้ำปลา" เพื่อให้ถูกปากคนไทย และช่วยให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เช่น ความดันโลหิตสูง รวมทั้งตอบโจทย์ผู้ที่บริโภคอาหารจากพืช ซึ่งซีอิ้วกลิ่นน้ำปลา จะทำให้การปรุงอาหารกลายเป็นเรื่องง่าย โดยใช้เครื่องปรุงรสเพียงขวดเดียว ได้คุณค่าจากธรรมชาติ ขณะนี้การวิจัยได้ผ่านการทดสอบรสชาติแล้ว โดยสำรวจความพึงพอใจกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลทั่วไป พบว่าส่วนใหญ่พึงพอใจให้ 7 คะแนนขึ้นไป ปัจจุบัน "ซีอิ้วกลิ่นน้ำปลา" อยู่ระหว่างการทดลองระดับห้องปฏิบัติการ (Lab Scale) ก่อนจะวิจัยและพัฒนาให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เพื่อยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดลและต่อยอดสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป สำหรับงานวิจัย "PB Healthy Sauce" สามารถคว้าถึง 2 รางวัลซ้อน ได้แก่ รางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Start-up Innovative F&B Products Competition) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดแสดงในงาน FI Asia Online Event และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากงานประกวด Food Innopolis Innovation Contest ระดับบัณฑิตศึกษา และบุคคลทั่วไป