ประเมิน 2 ปี มะเร็งรักษาทุกที่
วันที่ 24 ก.ค. 2566 เวลา 07:36 น.
สนามข่าว 7 สี - สปสช. พบคนไข้มะเร็งไปกระจุกตัวรักษาตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มากขึ้น หลังเริ่มใช้นโยบายมะเร็งรักษาได้ทุกที่มา 2 ปีแล้ว โดยมีความเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แนะว่า การรักษามะเร็งให้หายขาด ต้องรักษาแต่เนิ่น ๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เปิดรับฟังความคิดเห็น ในหัวข้อ "2 ปี มะเร็งรักษาทุกที่ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จถ้วนหน้า" สรุปได้ว่า อันดับแรก คนไข้ไม่ต้องทำให้คนไข้เดือดร้อนจากการส่งต่อ ไม่ต้องเหมารถไปโรงพยาบาล เพราะได้เปลี่ยนจากระบบใบส่งตัวมาเป็นระบบให้โรงพยาบาลติดต่อกันเอง ทำให้คนไข้ได้รับส่งตัวจากโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค ไปโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรือ โรงเรียนแพทย์มากขึ้น แก้ปัญหาที่ผ่านมาเวลามีคนไข้จากต่างจังหวัด เข้าไปรักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นทาง เมื่อมีนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ ทำให้สามารถรักษาต่อเนื่องได้ ไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของนโยบายนี้คืออยากลดระยะเวลารอคอยในหน่วยบริการที่คิวยาว ไปสู่หน่วยบริการที่คิวสั้น และช่วยผู้ป่วยที่รักษาข้ามเขตไม่ต้องใช้ใบส่งตัว แต่ถ้ารักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ หรือ โรงเรียนแพทย์ อย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วต้องรอคิวนาน เช่น รอ 6 เดือน แต่ถ้าที่จังหวัดชลบุรี รอ 2 เดือน ประชาชนจะมีทางเลือกว่าจะเลือกอย่างไหน เรื่องนี้ พลโทนายแพทย์วิชัย วาสนสิริ ประธานชมรมศัลยแพทย์มะเร็งประเทศไทย กล่าวว่า มีผู้ป่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากหาสิ่งที่ดีที่สุด และมักไปโรงเรียนแพทย์ ทำให้คนไข้ไปกระจุกอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทำให้คิวการรักษานานขึ้น และกระทบไปถึงผลการรักษา อัตราการรอดชีวิตก็ลดลง สิ่งสำคัญคือเวลาถ้าคนไข้มารับการตรวจวินิจฉัยรู้ว่าเริ่มเป็นมะเร็งระยะแรก ๆ ก็จะหายขาดได้มากขึ้นด้วย