กระทิงตาบอดรู้สาเหตุแล้ว ไม่ได้เกิดจากฉี่หมาในแต่เป็นเพราะแมลงวัน

วันที่ 17 ก.ค. 2566 เวลา 16:36 น.

กระทิงตาบอดรู้สาเหตุแล้ว ไม่ได้เกิดจากฉี่หมาในแต่เป็นเพราะแมลงวัน อธิบดีอุทยานฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษา กระทิงตาบอด รู้สาเหตุแล้ว วันนี้(17 กรกฎาคม 2566) นายอรรถพล  เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงกรณีพบกระทิงตาบอดในหลายพื้นที่ โดยมีสำนักข่าวบางแหล่ง ได้นำเสนอข่าวสันนิษฐานว่าเกิดจากการโดนฉี่หมาใน จนก่อให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว นั้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับรายงานจากสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ จากการตรวจสอบพบว่าสาเหตุที่ทำให้กระทิงตาบอดในหลายพื้นที่ เกิดจากแมลงวันตา หรือ อาย ฟลาย (eye fly) พบแพร่กระจายทั่วไปและระบาดมากในบางพื้นที่ โดยชนิดที่พบในประเทศไทย คือ ไซปันคูลินา ฟูนิโคลา (siphunculina funicola) โดยแมลงชนิดนี้จะเข้ามารุมดูดกินน้ำเลี้ยงจากลูกนัยน์ตา ทำให้ตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มีขี้ตามาก และทำให้ตาติดเชื้อโรคที่มากับแมลงชนิดนี้ เป็นสาเหตุทำให้ต่อมน้ำเหลืองหลังหูเจ็บและบวม ส่วนใหญ่เกิดที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อนและติดเชื้อลามไปอีกข้างหนึ่ง ทำให้เกิดตาบอดถาวรทั้งสองข้าง  ทั้งนี้การติดเชื้อที่มาจากแมลงวันตานี้เกิดขึ้นได้ในกระทิงทุกเพศ ทุกช่วงอายุ โดยอาจมีปัจจัยความแข็งแรงทางร่างกายและพันธุกรรมเป็นตัวเสริม และยังดูดเลือดและน้ำเหลืองจากบาดแผล ทำให้แผลหายช้า รักษาไม่หายขาด เกิดเป็นแผลเรื้อรังจากการนำเชื้อโรคต่าง ๆ มาสู่แผล นำมาสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ และบริเวณที่มีเนื้อเยื่ออ่อนๆ  เช่น จมูก อวัยวะเพศ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระทิงตาบอด สำหรับแมลงชนิดนี้สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ฝนทิ้งช่วง และยังนำเชื้อแบคทีเรียหลากหลายชนิดอีกด้วย จากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดย ดร. อุรุญากร จันทร์แสง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการศึกษาวิจัย พบแบคทีเรียทั้งหมด 64 ชนิด ซึ่ง 36 ชนิด เป็นแบคทีเรียชนิดที่มีความเสี่ยงในการก่อโรคในระดับที่ 2 ตามประกาศของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งแบ่งระดับของแบคทีเรียก่อโรคตามความเสี่ยงออกเป็น 4 ระดับ โดยระดับ 4 เป็นระดับที่เสี่ยงสูงสุดและลดลงมาตามลำดับ แบคทีเรียที่พบในแมลงชนิดนี้อยู่ในระดับที่ 2 เช่น เอนเทอโรค็อกคัส สูโดโมนาส สแต็ปโตค็อกคัส สแต็ปฟิโลค็อกคัส แต่ปัจจุบันด้วยสภาพปัจจัยเรื่องภาวะโลกร้อน หรือ Climate change จึงยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าพบเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นหรือพบไวรัสชนิดใหม่ ๆ ด้วยหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความกังวลว่าสัตว์ป่าอื่น ๆ จะมีความเสี่ยงติดเชื้อดังกล่าวหรือไม่นั้น จากข้อมูลที่มีการสังเกตและติดตาม พบว่าสรีระร่างกายและพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิดมีกลไกป้องกัน เช่น ช้างป่า มีใบหูขนาดใหญ่ สามารถพัดลมไล่แมลงได้ รวมถึงมีงวงที่เป็นจมูกยาวเป่าลมไล่แมลงที่ตาได้ ส่วน เก้ง กวาง นั้นแม้จะมีหูขนาดใหญ่พอที่จะสะบัดลมหรือส่ายหัวไล่แมลงได้เหมือนกันกับวัวและควาย แต่หากเป็นกรณีที่ถูกแมลงรุมจำนวนมาก ๆ อาจจะพบปัญหาการไล่แมลงออกไปได้ยาก ซึ่งต้องอาศัยนกที่กินแมลงเข้ามาช่วยกำจัด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ร่วมกันศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป.