คอลัมน์หมายเลข 7 : ผ่าขบวนการทุจริตทำบัตร 10 ปี แฝงตัวอยู่ประเทศไทย ตอน 1

วันที่ 10 ก.ค. 2566 เวลา 20:12 น.

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ขยายปมข้าราชการไทยและเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตออกบัตร 10 ปี ให้กับชาวเมียนมาที่ต้องการจะแฝงตัวอยู่ในประเทศไทย หลังเกิดเรื่องฉาวที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คุณสุธาทิพย์ ผาสุข ลงพื้นที่ มีรายงานความคืบหน้า และพบข้อมูลการออกบัตรซึ่งทำเป็นขบวนการผ่านนายหน้า วันนี้เสนอเป็นตอนแรก นี่เป็นหนึ่งในเสียงบอกเล่าเรื่องราวกลโกงการทำบัตร 10 ปี หรือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่แม้ว่าจะมีคุณสมบัติ อยู่อาศัยมานานกว่า 10 ปีแล้ว ก็ใช่ว่าจะสามารถยื่นขอออกบัตร เพื่อใช้ยืนยันแสดงตัวตนการอยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายได้อย่างง่าย ๆ  แต่หากว่ามีเงินที่มากพอ จะมีหรือไม่มีคุณสมบัติตามที่ระเบียบกฎหมายไทยกำหนดไว้ การทำบัตร 10 ปี ที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีการวางแผนทำกันเป็นขบวนการ โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้ความร่วมมือ ตามระเบียบการออกบัตร 10 ปี นอกจากบุคคลที่ยื่นขอจะต้องอยู่อาศัย มีหลักแหล่งที่ชัดเจน นานกว่า 10 ปีแล้ว ในขั้นตอนหลักเกณฑ์ กำหนดให้จะต้องมีเจ้าบ้านคนไทย และพยานบุคคลซึ่งเป็นคนไทย เป็นผู้ที่ให้การรับรองยืนยันด้วย และจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะทำการสอบปากคำ ก่อนจะส่งเรื่องให้กับผู้ช่วยนายทะเบียนหรือนายทะเบียนซึ่งเป็นข้าราชการประจำ มีอำนาจในการเซ็นอนุมัติ โดยหากผ่านขั้นตอนนี้ไปได้แล้ว ฝ่ายงานบัตรจึงจะรับช่วงถ่ายบัตรตามกระบวนการได้ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เทศบาล บอกว่า การสอบปากกลุ่มคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยจะมีเจ้าหน้าที่และข้าราชการเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่รับผิดชอบ แต่ที่น่าสนใจคือคำถามที่ใช้ประกอบการพิจารณา ซึ่งมีลักษณะเป็นแพทเทิร์นตายตัว จึงทำให้เกิดคำถามว่านี่อาจเป็นช่องว่างในการถูกนำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์หรือไม่  ขณะที่ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการ 2 คณะ ทั้งในส่วนของเทศบาลนครแม่สอดและจังหวัดตาก ยังคงไม่ได้บทสรุป แต่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องสงสัยว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ได้ถูกโยกย้ายให้ไปทำงานในหน้าที่อื่นแล้ว แม้เวลานี้ ผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการจะยังไม่ได้บทสรุปว่ามีการทุจริตออกบัตร 10 ปี ให้กับกลุ่มคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และกลุ่มกองกำลังต่อต้านสภาบริหารทหารเมียนมา อย่างเป็นทางการ แต่จากรายงานเบื้องต้น พบว่า ทางคณะกรรมการ ได้ตรวจพบพิรุธความผิดปกติ เช่น การสื่อสารของบุคคลที่ถือครองบัตร 10 ปี ซึ่งบางคนพูดภาษาไทยไม่ได้ ต้องใช้ล่ามแปลภาษา จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่น่าจะเป็นวิสัยของคนที่อยู่เมืองไทยนาน ขณะที่การลงพื้นที่ติดตามขยายผลของคอลัมน์หมายเลข 7 ยังพบเบาะแสขบวนการรับจ้างนำชื่อเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อให้นำไปใช้ยื่นเป็นหลักฐานแอบอ้างขอทำบัตร 10 ปี ของกลุ่มคนไทยในพื้นที่เทศบาลนครแม่สอด