แนวโน้มส่งออกข้าวของไทยขยายตัวต่อเนื่อง
วันที่ 29 มิ.ย. 2566 เวลา 15:27 น.
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ปริมาณการส่งออกข้าวไทยเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 และแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องด้วยกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวและความกังวลในเรื่องการรักษาความมั่นคงทางอาหารในตลาดโลก ประกอบกับราคาข้าวไทยในปีนี้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ด้วยปริมาณผลผลิตข้าวไทยเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยคาดว่าปริมาณส่งออกข้าวไทยปี 2566 นี้ รวมอยู่ที่ประมาณ 7.5 – 8.0 ล้านตัน จากข้อมูลกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ไทยส่งออกข้าวกว่า 2.79 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 23.61 มีมูลค่าการส่งออกรวม 51,281 ล้านบาท ถือเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย ตลาดส่งออกข้าวสำคัญ ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน ทั้งนี้ไทยส่งออกข้าวขาวมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวนึ่ง ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว และข้าวกล้อง ตามลำดับ การส่งออกข้าวตลาดโลกเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความต้องการข้าวของจีน เพราะเวียดนามไม่สามารถผลิตข้าวดังกล่าวได้เพียงพอ และราคาในประเทศสูงกว่าราคานําเข้าจากอินเดียและไทย อย่างไรก็ตามไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ อากาศร้อนจัดส่งผลให้ปริมาณฝนและน้ำในเขื่อนปรับลดลง และส่งผลต่อผลผลิตข้าวได้ นอกจากนี้จากข้อมูลวิเคราะห์กรุงศรีชี้ว่าเกษตรกรไทยยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงซึ่งทำให้มีผลต่อการแข่งขันการส่งออกในระยะยาว “โมเดลการวิจัยพันธุ์ข้าวบาสมาติของอินเดีย” อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวบาสมาติมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ปริมาณการส่งออก่ตลาดโลกตั้งแต่ปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เหตุผลหลัก คือ ได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวบาสมาติ มีความหอมเหมือนข้าวหอมมะลิของไทย การพัฒนาข้ามสายพันธุ์ทำให้มีผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้น อายุการเก็บเกี่ยวสั้นลง ข้าวพันธุ์หอมมีความหลากหลายเพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ย้อนไปช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด หลายประเทศผู้ส่งออกข้าวไม่มีสต็อกข้าวเพียงพอต่อการส่งออกหรือห้ามมิให้ส่งออก อินเดียใช้โอกาสนีเร่งระบายข้าวในสต็อกและ เสนอราคาขายที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งประมาณร้อยละ 10 ทำให้อินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวในตลาดโลกที่สำคัญ อินเดียส่งออกทั้งข้าวบาสมาติและข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติ โดยตลาดส่งออกข้าวบาสมาติที่สําคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ คูเวต ส่วนตลาดส่งออกข้าวทีไม่ใช่ข้าวบาสมาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ เนปาล เบนิน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โซมาเลีย และกินี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกานั้นมีความต้องการซื้อข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติจากอินเดียมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่าแหล่งอื่น “แนวทางการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย” กรมการข้าวมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1) เพื่อให้มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง เช่น รวงต่อกอมาก รวงใหญ่ เมล็ดต่อรวงมาก และเมล็ดมีน้ำหนักดี 2) เพื่อให้มีคุณภาพเมล็ดดี ตามความต้องการของตลาด เช่น เมล็ดเรียวยาว คุณภาพการสีดี เป็นต้น 3) สามารถต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญ เช่น โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้น 4) ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา เช่น ทนแล้ง ทนดินเปรี้ยว ทนดินเค็ม ทนน้ำท่วมฉับพลัน เป็นต้น และ 5) มีลักษณะรูปแบบต้นที่ดี เหมาะสมกับการปลูกในนิเวศน์ต่าง ๆ ทั้งนี้วิธีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่หรือพันธุ์ที่ดีตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมานั้นมีหลายวิธี ได้แก่ การรวบรวมพันธุ์และการนำพันธุ์ข้าวมาจากที่อื่น การคัดเลือกพันธุ์ การผสมพันธุ์ และการคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมที่กระจายตัว การชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม และการสร้างพันธุ์ข้าวลูกผสม “การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อตลาดเฉพาะ” ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาเพื่อเกิดความสามารถในการแข่งขัน แนวโน้มคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นและมีคุณค่าทางโภชนาการและสุขภาพ ตัวอย่าง ข้าว กข43 มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวอื่น ๆ ทั่วไป โดยมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 57.5 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีค่าอมิโลสต่ำ ซึ่งเป็นค่าที่สามารถระบุความนุ่มเหนียวอยู่ที่ร้อยละ 18.82 ทำให้ข้าว กข 43 มีความอ่อนนุ่ม รับประทานง่ายใกล้เคียงข้าวหอมดอกมะลิ เป็นต้น “การรับรองข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” เป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่และผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยอาศัยจุดเด่นเรื่องคุณลักษณะเฉพาะสินค้าเกษตรเฉพาะพื้นที่ แสดงให้เห็นคุณภาพสินค้าและชื่อเสียงเชื่อมโยงกับแหล่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เป็นการช่วยยกระดับสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น เช่น ข้าวสังข์หยด เมืองพัทลุง ข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวเหลืองปะทิว ชุมพร ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ เป็นต้น แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยปีนี้ยังสดใส แต่ปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อปริมาณน้ำและปริมาณผลผลิต การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่องมีความจำเป็นเพื่อมีพันธุ์ข้าวที่ทนทานความแล้ง อีกทั้งตอบโจทย์แนวโน้มความต้องการของประเทศคู่ค้า เพื่อรักษาสถานะของไทยให้ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นของโลกต่อไป