พรรคเพื่อไทย ติง รัฐบาลรักษาการ ไม่มีอำนาจดำเนินการในโครงการสำคัญ หวั่นทำรัฐเสียหายยิ่งกว่าค่าโง่โฮปเวล
วันที่ 27 มิ.ย. 2566 เวลา 16:49 น.
ครม. รับทราบผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ขณะที่ “ประภัสร์” ติง เป็นรักษาการไม่ควรทำ หวั่นทำรัฐเสียหายยิ่งกว่าค่าโง่โฮปเวล . นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (27 มิถุนายน 2566) รับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วย หลักการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ (Airport Rail Link: ARL) เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และหลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยสรุปสาระสำคัญ คือ . 1 หลักการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิ ARL (Airport Rail Link) จากเดิม เอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท. ) ภายใน 2 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ เป็นเอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 1,060.04 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,731.13 ล้านบาท โดยแบ่งชำระ ค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคม ของแต่ละปี ทั้งนี้ การแบ่งชำระ 7 งวดดังกล่าว มีความเหมาะสม เนื่องจากผลประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับ (จำนวน 474.44 ล้านบาท) ใกล้เคียงกับผลกระทบที่เอกชนคู่สัญญาได้รับจากสถานการณ์ โควิด-19 (จำนวน 495.27 ล้านบาท) โดยเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนเกินจากที่ รฟท. ต้องชำระให้สถาบันทางการเงิน และ/หรือ กระทรวงการคลัง เป็นจำนวนเกินกว่าจำนวนเงินที่ รฟท. ได้รับชำระจากเอกชนคู่สัญญา เงื่อนไขภายหลังจากการปรับวิธีการชำระเงินแล้ว ดังนี้ o กรณีเอกชนคู่สัญญาไม่ชำระค่าสิทธิ ARL ตามกำหนด โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร จะถือเป็นเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญ และ รฟท. จะใช้สิทธิบังคับตามสัญญาร่วมลงทุนฯ o กรณีเอกชนคู่สัญญาได้รับรายได้ค่าโดยสาร ARL สูงกว่าประมาณการ รฟท. มีสิทธิเจรจาให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าสิทธิ ARL เร็วขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด- 19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารและรายรับ ของเอกชนคู่สัญญา หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอาจส่งผลต่อการให้บริการ เดินรถและการบำรุงรักษา ARL ต้องหยุดชะงักลง และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของโครงการฯ ต่อสถาบันการเงินลดลงด้วย 2. การแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยที่สัญญาร่วมลงทุนฯ ยังไม่มีกลไกรองรับการแก้ไขปัญหา กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ ส่งผลให้โครงการไม่มีความเหมาะสมทางการเงิน (Not Bankable) แตกต่างจากกรณีสัญญาร่วมลงทุนของโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่มีกระบวนการบริหารสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผันอันครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น โรคระบาดหรือโรคติดต่ออันตรายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ดังนั้นเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ด้วยกระบวนการบริหารสัญญา โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ จึงมีความจำเป็นต้อง (1) เพิ่มคำจำกัดความของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบ รุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญา เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความล่าช้าหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของโครงการฯ และ (2) เพิ่มแนวทาง การบริหารสัญญาเพื่อจัดการกับเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผันโดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อสถานะ ทางการเงินของโครงการฯ อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น กับคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรมโดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี มีหน้าที่ ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุด (Best effort) โดยสุจริตภายใต้กฎหมายและ พ.ร.บ. เขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ถึงวิธีการในการเยียวยา เช่น การขยายระยะเวลาโครงการฯและการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เอกชน ต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนรัฐเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาทางการเงินของ โครงการฯ ทั้งนี้ รฟท. ยังมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ เดิมทุกประการ . โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยัน ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแก้ไขปัญหาโครงการฯ จะทำให้บริการ โครงการ ARL สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยเอกชนคู่สัญญา สามารถชำระค่าสิทธิ ARL เพื่อรับสิทธิการดำเนินโครงการ ARL ต่อไปได้ และจะมีกลไกในการบริหารสัญญาเพื่อรับมือกับเหตุผ่อนผันและเหตุสุดวิสัยกับเหตุการณ์ ในอนาคต รวมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชน คู่สัญญาเพื่อให้โครงการฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์โครงการตามสัญญาร่วมลงทุนฯ . ด้าน นายประภัสร์ จงสงวน แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ออกมาแถลงทันที บอกรู้สึกไม่สบายใจ และไม่เห็นด้วย ที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์(ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาส ออกเป็น 7 งวด และแก้ไขสัญญาร่วมทุนเงื่อนไข ‘เหตุสุดวิสัย’ กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรค หรือมีสงคราม ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ . เนื่องจาก ครม. ชุดนี้ เป็นรัฐบาลรักษาการ จะไม่มีอำนาจแล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า นำเสนอ ครม.เพื่อทราบ แท้จริงแล้วคือ การอนุมัติ ตามกฎหมายของอีอีซีใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจริงจะสร้างปัญหาให้กับโครงการ และสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลชุดใหม่เป็นอย่างมาก เพราะโดยหลักของทางราชการ สัญญาที่ลงนามไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญ โดยคณะกรรมการ อีอีซี ที่ดูแลโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบิน ที่เสนอ ครม.เพื่อทราบนั้น เป็นสาระสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือให้บริษัทผู้ได้รับสัมปทาน ( บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด) คู่สัญญาโครงการรถเชื่อม 3 สนามบิน จากเดิมตามสัญญาคือ ‘จ่ายเงินเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ’ เปลี่ยนเป็น ‘จ่ายตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง’ ทั้งนี้ตนทราบมาว่าการแก้ไขสัญญาการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน หัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือการใช้ประโยชน์จากที่ดินมักกะสัน ไม่ใช่การก่อสร้างรถไฟฟ้าใช่หรือไม่ . ทั้งนี้ สัญญาการก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนวันนี้ยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง หรือตอกเสาเข็ม ซ้ำยังมีประเด็นพิพาท รวมถึงประเด็นการส่งมอบแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งตามสัญญาต้องจ่ายเงินการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่กลับพบว่า มีการส่งมอบรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ไปแล้ว แต่จ่ายเงินเพียง 10% ส่วนเงินที่เหลืออีก 90% อยู่ในรายละเอียดของการแก้ไขสัญญาข้างต้น หากไม่พิจารณาอย่างถ่องแท้หรือทำไปโดยความกดดันจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐยิ่งกว่ากรณีค่าโง่โฮปเวล จึงอยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนด้วย