สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 22 มิ.ย. 2566 เวลา 20:06 น.
เวลา 09.39 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2523 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปเริ่มงานทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลในหมู่บ้านที่บ้านไร่ ต่อมาปี 2537 ได้จัดตั้งเป็นศูนย์ฯ ซึ่งเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ดำเนินการ 2 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ คือ สถานีวิจัยและฝึกอบรมบ้านไร่ อำเภอหางดง พื้นที่ 33 ไร่ และพื้นที่หน่วยฝึกอบรมยางคราม อำเภอดอยหล่อ พื้นที่ 90 ไร่ ศูนย์ฯ ได้สนองพระราชปณิธาน ผ่านการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงาน กปร., หน่วยงานราชการอื่น และภาคเอกชน ดำเนินงานด้านการศึกษา ทดลอง วิจัยเกี่ยวกับสรีรวิทยาการบังคับการออกดอก การขยายพันธุ์พืช เทคโนโลยีการผลิต และการปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอก เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านไม้ดอกให้กับประเทศ และนำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประชาชนทั่วไป ดำเนินการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ พืชกลุ่มกระเจียวและปทุมมา, แกลดิโอลัส, บานชื่น, ว่านสี่ทิศ, กล้วยไม้, หงส์เหิน, ดาหลา, แอสเตอร์ และสตรอว์เบอร์รี โดยทำการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมและการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ให้เกิดพันธุ์พืชใหม่ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่และเพิ่มโอกาสด้านการตลาดให้เกษตรกรผู้ปลูกต่อไป ในการนี้ ทอดพระเนตรงานขยายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ที่นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร และงานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น วาซาบิ และสตรอว์เบอร์รี ณ อาคารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการเรื่องความสำคัญของการพัฒนางานไม้ดอก งานพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ได้แก่ ลูกผสมปทุมมาและกระเจียว สายพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืช และคุ้มครองพันธุ์พืชที่ได้นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรจากภาคเหนือจรดภาคใต้ ลูกผสมแกลดิโอลัส ลูกผสมดาหลา และบานชื่น ส่วนงานวิจัยด้านสรีรวิทยาการผลิตพืชเศรษฐกิจ เช่น งานวิจัยสตรอว์เบอร์รี เกี่ยวกับการผลิตไหล และการควบคุมปัจจัยการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงงานผลิตพืช, การผลิตวาซาบิในระบบไฮโดรโพรนิกส์ อยู่ระหว่างดำเนินงานวิจัย มีความก้าวหน้าร้อยละ 60 และงานวิจัยการเก็บรักษาทิวลิปโดยการทำ Ice tulip เป็นการเก็บรักษาหัวดอกทิวลิป ให้สามารถปลูกและออกดอกได้ตามช่วงเวลาที่ต้องการ สำหรับการขยายผลสู่ราษฎร ศูนย์ฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสนับสนุนพันธุ์พืชใหม่ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่ 11 จังหวัด จำนวน 26 กลุ่ม รวมสมาชิก 409 คน รวมทั้ง พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งดำเนินงานร่วมกับสำนักงานจังหวัดยะลา และสำนักงานจังหวัดนราธิวาส ในการส่งเสริมสนับสนุน และให้องค์ความรู้ด้านการผลิตไม้ดอกเมืองหนาวและไม้ดอกชนิดใหม่ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ สามารถผลิตไม้ดอกไม้ประดับส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจน จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านการขยายพันธุ์พืช การปลูกไม้ดอก การปลูกพืชแบบไฮโดรโพรนิกส์ การปลูกกล้วยไม้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนที่สนใจ โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสแก่คณะทำงานและบุคลากรศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยทรงชื่นชมทุกคนที่ได้สนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้กว่า 40 ปี โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันดำเนินงานและขยายผลที่เป็นประโยชน์ไปสู่ราษฎร เวลา 12.51 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ อำเภอเมือง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายสุมิตร เพชราภิรัชต์ นายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำคณะกรรมการสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะกรรมการดำเนินงาน "การวิ่งการกุศลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - เชียงใหม่มาราธอน 2565 ครั้งที่ 6" เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินจากการจัดงานฯ เพื่อสมทบทุนมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี