สาหร่ายทะเลปล่อยสารพิษฆ่าสิงโตทะเลที่สหรัฐฯ
วันที่ 22 มิ.ย. 2566 เวลา 13:01 น.
การเติบโตอย่างรวดเร็วของสาหร่ายทะเลที่สหรัฐฯ ส่งผลให้สิงโตทะเลและโลมา ตายไปหลายร้อยตัว เนื่องจากสาหร่ายทะเลเหล่านี้ ปล่อยกรดโดโมอิก ที่เป็นสารพิษ และเป็นอันตรายต่อระบบประสาท องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) หรือ โนอา รายงานว่า มีสัตว์ทะเลมากกว่า 1,000 ตัว ล้มป่วย และเสียชีวิต ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งคาดว่า เกิดจากสาหร่ายในทะเลเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยสาหร่ายทะเลดังกล่าว ปล่อยสารพิษที่เป็นกรด “โมโนอิก” และเป็นอันตรายต่อระบบประสาทต่อบรรดาสัตว์ทะเล โดยเฉพาะสิงโตทะเลและโลมา ซึ่งสารพิษดังกล่าว ทำให้สิงโตทะเลและโลมา ตายไปแล้วหลายร้อยตัว นักชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย ระบุว่า การที่สิงโตทะเลและโลมาตายไปเป็นจำนวนมาก จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่อาหาร โดยในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่บริเวณชายฝั่งของสหรัฐฯ ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อน เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สาหร่ายทะเลเติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีจำนวนมากกว่าปกติ และกลายเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเลอื่น ๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งหาทางแก้ปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสัตว์ทะเลในขณะนี้