“ตุ๊กแกบินหางหยัก” สามารถบินร่อนได้ หากถูกจับตัวได้ จะสลัดหางทิ้ง และ พยายามใช้ปากกัดเพื่อป้องกันตัว
วันที่ 21 มิ.ย. 2566 เวลา 17:14 น.
“ตุ๊กแกบินหางหยัก” สามารถบินได้ หากถูกจับตัว จะสลัดหางทิ้ง และ พยายามใช้ปากกัด เพื่อป้องกันตัว วันนี้ (21มิ.ย.66) ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดนครราชสีมา เผยแพร่ภาพ “ตุ๊กแกบินหางหยัก” หรือ “ตุ๊กแกบินหางเฟิน” เป็นตุ๊กแกที่มีแผ่นหนัง แผ่ออกมาจากข้างแก้ม ตลอดความยาวของสีข้าง โคนขา และ ระหว่างนิ้วเท้าทั้งสองคู่ ลักษณะแบนราบ เกล็ดบนลำตัวละเอียด มีลายคล้ายเปลือกไม้แห้ง อุปนิสัย ชอบแอบอยู่ตามซอกระหว่างกิ่งหรือใต้เปลือกไม้ ม้วนหางเป็นวงกลม ซุกไว้ข้างลำตัว ปกติชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ใหญ่ ในป่าที่ไม่รกมาก สามารถบินร่อนได้ช่วงสั้นๆ แต่ไม่พบบ่อยนัก บางครั้งพบว่า ปรับตัวอาศัยอยู่ในสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ที่อยู่ใกล้กับป่าด้วย ตุ๊กแกบินหางหยัก ออกหากินเวลากลางคืน หากถูกรบกวนจะหยุดนิ่ง พลางตัวแนบไปกับเปลือกไม้ ทำให้สังเกตเห็นได้ยาก เมื่อถูกจับตัวได้จะพยายามสลัดหางทิ้ง และพยายามใช้ปากกัดเพื่อป้องกันตัว ปัจจุบัน มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535