คอลัมน์หมายเลข 7 : ไขปมร้อน เล่ห์กลน้ำมันเถื่อนภาคใต้ โยง ขรก.-จนท.รัฐ
วันที่ 14 มิ.ย. 2566 เวลา 20:13 น.
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ เปิดเส้นทางกลยุทธ์สวมน้ำมันเถื่อน ภาคใต้ โดยอาศัยตัวเลขน้ำเสียบำบัดจากเรือขนสินค้า รายได้เข้ากระเป๋า 2 หน่วยเต็ม ๆ เป็นใครบ้าง ติดตามกับคุณมะลิ แซ่ฉิ่น ในคอลัมน์หมายเลข 7 ข้อมูล เอกสาร พยานหลักฐาน ระบุถึงขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนภาคใต้ เชื่อมโยงถึงการจับกุมรถบรรทุกขนน้ำมันเถื่อนของตำรวจทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ ที่มีข้อกล่าวหาพาดพิงถึงข้าราชการระดับสูงของของกรมสรรพสามิต อยู่เบื้องหลัง คอยอำนวยความสะดวกให้กระทำความผิด ซึ่ง นายอัจฉริยะ นำมายื่นให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ช่วยเร่งรัด ขยายผลตรวจสอบ หวังทำลายขบวนการให้สิ้นซาก ปลุกกระตุ้นความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง ท่ามกลางข้อสงสัยที่ยังไม่คำตอบว่า บิ๊กข้าราชการที่ถูกกล่าวหาพาดพิงคนนี้เป็นใคร คอลัมน์หมายเลข 7 ติดตามข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น พบข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งมีตั้งแต่เจ้าของเรือ เจ้าของรถบรรทุก เจ้าของคลังน้ำมันที่เก็บซ่อนน้ำมันเถื่อนปลายทางเกือบ 3 ล้านลิตร อักษรย่อ บ. และข้อกล่าวหาที่พุ่งเป้าไปยังเจ้าที่ข้าราชการ หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ และในจังหวัดปทุมธานี จนทำให้ทำให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินการตามกฎหมายต้องเสียเปรียบ และภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการไม่เสียภาษี มีข้อมูลว่ารูปแบบกลยุทธ์แสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องที่กลุ่มขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนภาคใต้กลุ่มนี้ใช้ คือการอาศัยตัวเลขน้ำเสียบำบัดจากเรือขนสินค้า ซึ่งเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันจากผู้กำกับการตำรวจน้ำ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ที่ทำหน้าที่แกะรอยกวาดล้างกองทัพมดขนน้ำมันเถื่อนอยู่นาน จนสามารถควบคุมนายหน้าทั้งเจ้าเดิมและหน้าใหม่ได้เป็นจำนวนมาก โดยสะท้อนให้ฟังว่า จากหลักฐานที่เปิดพบในข้อมูลของนายอัจฉริยะ กลไกการทุจริตรอบนี้น่าจะเป็นการนำน้ำมันเถื่อนมาสวมตัวเลขการบำบัดของเสียที่ออกมาจากเรือพาณิชย์ ซึ่งโดยปกติแล้ว เรือพาณิชย์ทุกลำที่เข้ามาเทียบท่าในภาคตะวันออกจะต้องมีการขนถ่ายของเสียจากในเรือ หรือที่เรียกกันว่าสรัชออยส์ แต่ละลำจะขนถ่ายไม่เท่ากัน เพื่อนำของเสียเหล่านี้มาแยกส่วนที่เป็นการปนเปื้อนน้ำมันและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งการสูบของเสียออกจากลำเรือขึ้นฝั่งไปบำบัด จะมีเจ้าหน้าที่เจ้าท่า เป็นคนตรวจสอบ เมื่อผ่านการบำบัดแล้วสัดส่วนน้ำมันที่แยกได้จากการปนเปื้อนในของเสีย กรมสรรพสามิต จะเป็นผู้บันทึก และจุดนี้เอง ที่ผู้กำกับการตำรวจน้ำ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง บอกว่า อาจเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการสวมตัวเลขน้ำมันเถื่อนเข้าไปในสรัชออยส์ แล้วนำออกมาขายทอดตลาด ที่ผ่านมาศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง มีการกวาดล้างดำเนินการ กลุ่มกองทัพมดที่ขนน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาผ่านช่องทางข้ามแม่น้ำสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และใส่รถขนส่งสินค้าหรือรถโหลดน้ำมันของเสียข้ามชายแดนมายังประเทศไทย โดยนำไปเก็บรวบรวมไว้ตามพื้นที่ตะเข็บชายแดน เมื่อได้จำนวนหนึ่งถึงจะขนขึ้นรถบรรทุกตระเวนไปส่งกลุ่มลูกค้าซึ่งมีหลากหลายประเภท ทั้งในภาคการประมง ภาคขนส่ง ไปจนถึงภาคเกษตรกรรม แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าน้ำมันเหล่านี้ เป็นน้ำมันที่มีการปนเปื้อนสูง หากใช้ไปนาน ๆ เครื่องยนต์อาจพังหรือเสียหาย จนต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลรักษา แต่หลายคนก็ยอมแลก บอกว่าได้คุ้มเสีย เพราะหากเทียบสัดส่วนราคาน้ำมันแล้วในประเทศเพื่อนบ้านตกลิตรละ 17 บาท ในขณะที่บ้านเราพยุงราคาอยู่ที่ 35 บาท นี่เลยกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทาง แรงจูงใจแสวงหาประโยชน์และทำให้กลุ่มเจ้าพ่อเจ้าแม่รายใหม่ๆเกิดขึ้นมาทดแทนเลือดที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้เสมอ เพราะรางวัลที่ได้จากส่วนต่างค่าน้ำมัน มันยวนตายวนใจ และยั่วน้ำลายเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งล่าสุดยังปรากฎข้อมูลพัวพันสาวไปที่วงการสีกากีอย่างตำรวจภูธรภาค 1 อีกด้วย