เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ลำแรกของไทย Interceptor

วันที่ 14 มิ.ย. 2566 เวลา 16:39 น.

เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ลำแรกของไทย Interceptor เสร็จแล้ว 95% เตรียมจำกัดขยะลำน้ำไทยก่อนลงสู่ทะเล เรือเก็บขยะลำแรกของไทย วันนี้(14 มิ.ย.2566) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับทีมข่าวออนไลน์ Ch7HD News ถึงความก้าวหน้าการประกอบเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ The Ocean Cleanup องค์กรสิ่งแวดล้อมด้านวิศวกรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไรสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเรือลำดังกล่าวอยู่ระหว่างต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือ บริษัทเอเชียนมารีน จังหวัดสมุทรปราการ นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นความร่วมมือกับโบแยน สแลต CEO ของ The Ocean Cleanup ที่มอบเรือลำนี้ให้แก่ไทย โดยวันเปิดตัวก็มีแผนจะเชิญ โบแยน สแลต มาร่วมงานเพื่อส่งมอบเรือด้วย ซึ่งเรือลำนี้เป็นเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ซึ่งถือเป็นลำแรกของไทย ซึ่งจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์และไม่มีเครื่องยนต์ จะดักเก็บขยะที่ลอยมาตามน้ำ ฉะนั้น จะต้องวางตำแหน่งของเรือให้ถูกจุด เมื่อลำเลียงขยะขึ้นมาก็จะทิ้งลงถังที่ติดอยู่กับเรือ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะไปเก็บขยะขึ้นมาบนฝั่ง จะมาช่วยเก็บขยะที่ปลายน้ำไม่ให้ลงสู่ทะเล ด้านนางสาวชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) เปิดเผยกับทีมข่าวออนไลน์ Ch7HD News ว่า ขณะนี้การประกอบเรือ Interceptor มีความก้าวหน้าแล้วถึงร้อยละ 95 ตอนนี้อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเรือ โดยจะต้องตรวจสอบเอกสารกับสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจังหวัดสมุทรปราการ ในเรื่องการจดทะเบียนและการทอดสมอ คาดว่าช่วงเดือนสิงหาคมจะแล้วเสร็จ โดยข้อมูลทั่วไปพบว่าเรือลำนี้สามารถเก็บขยะเฉลี่ยวันละ 50 ตัน มีแผนทดสอบการใช้งานในระยะ 6 เดือนหลังส่งมอบ คาดว่าจะนำไปตั้งไว้บริเวณเชิงสะพานพระรามที่ 9 โดยจะจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าเวรยาม 3 ช่วงต่อวัน ซึ่งการทำงานของเรือลำนี้ จะตั้งขยะขึ้นมาพักไว้บนถังของเรือ จากนั้นจะใช้เรือลากจูงมาดึงถังขยะออกจากเรือ Interceptor และนำขยะไปขึ้นฝั่งที่ท่าเรือคลังกระทรวงพาณิชย์ ห่างจากจุดตั้งเรือเก็บขยะประมาณ 800 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่ กทม.จัดการขยะเช่นเดียวกัน จึงจะอาศัยกระบวนการจัดการขยะของ กทม.ร่วมด้วย