วันทะเลโลก 2566 กรมทะเลชายฝั่ง ชวนรวมพลัง “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม”
วันที่ 9 มิ.ย. 2566 เวลา 12:38 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมวันทะเลโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด Planet Ocean: Tides are Changing หรือ “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม” ซึ่งวันที่ 8 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันทะเลโลก หรือ วันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day) ได้ถูกกำหนดขึ้นในคราวการประชุมสุดยอดระดับประเทศผู้นำว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development: UNCEN) หรือการประชุม Earth Summit ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535 โดยประเทศสมาชิกกว่า 178 ประเทศ รวมตัวกันเพื่อเผยแพร่ความรู้และรณรงค์ส่งต่อไปยังประชาชนทั่วโลกผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมกับจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกช่วยกันปกป้องและรักษาทะเล จนกระทั่ง ปี 2551 องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดวันขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองและปลุกจิตสำนึกของผู้คนทั่วโลก ให้ความสำคัญกับบทบาทของทะเลและมหาสมุทรที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเลและมหาสมุทร สำหรับปีนี้ ทช. ได้จัดกิจกรรมวันทะเลโลกขึ้น ณ ลานหินขาว ต.ตะพง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันเก็บขยะชายหาด ดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล และเปิดตัวโครงการความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบริเวณปากแม่น้ำ 3 พื้นที่ ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำตรัง ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธาน โอกาสนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. พร้อม นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดี ทช. รักษาราชการแทนอธิบดี ทช. และ ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดี ทช. รวมทั้งคณะผู้บริหารระดับสูง ผู้นำองค์กร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 - 10 ยังจัดกิจกรรมวันทะเลโลกขึ้นในพื้นที่ 9 จังหวัด ฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ หรือจังหวัดใกล้เคียงได้เข้าร่วมด้วย นายวราวุธ กล่าวว่า วันทะเลโลกในปีนี้ ทั่วโลกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในการดูแลรักษาทะเลและมหาสมุทรอย่างพร้อมเพรียง เพื่อกระตุ้นเตือน และตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทะเลและมหาสมุทรของโลก คำนึงถึงความจำเป็นในการต่อสู้กับปัญหาความเสื่อมโทรมของทะเลและมหาสมุทร กระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาสนใจ รักษ์ทะเลกันมากขึ้น แม้โลกจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล รองรับจำนวนประชากรของมนุษย์ และสัตว์นานาชนิดนับล้านล้านตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า 3 ใน 4 ของโลกเป็นพื้นที่มหาสมุทร ซึ่งเป็นระบบนิเวศหลักที่ทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีพอยู่ได้บนโลกใบนี้ มหาสมุทรเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรคาร์บอน มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศ และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากกว่า 230,000 สปีชีส์ ออกซิเจนในอากาศมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มาจากสาหร่ายเซลล์เดียวหรือแพลงก์ตอนที่ลอยอยู่ในทะเล ขณะเดียวกันมหาสมุทรยังเป็นแหล่งกำเนิดเกลือ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุต่างๆ อีกมากมาย มหาสมุทรจึงสำคัญมากกว่าที่เราคิด ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้ปลัด ทส. กำกับดูแลภารกิจด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน อย่างใกล้ชิด ผลักดันมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รวมถึงปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยยึดหลักการบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่าย และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ฝากถึงนักท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนทุกคนเสมอว่า ดูแต่ตา มืออย่าต้อง ไม่เอาอะไรกลับไปนอกจากรูปถ่ายและความทรงจำ ไม่ทิ้งอะไรไว้ นอกจากรอยเท้า ช่วยรักษาความสะอาด เพื่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลไทยจะคงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป ด้าน นายจตุพร กล่าวว่า ความสำคัญของวันทะเลโลกนั้น จุดประสงค์ประการหนึ่ง คือการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลและอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเลไปยังประชาชนทั่วโลก ผ่านเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สวนสัตว์ โรงสถานศึกษา และองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมมือกันใส่ใจดูแล และอนุรักษ์ท้องทะเลให้คงความอุดมสมบูรณ์และสวยงามตราบจนชั่วลูกชั่วหลานสืบไป โดย ทส. ได้ขับเคลื่อนนโยบายในการปกป้อง รักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ รวมถึงออกมาตรการทางกฎหมาย เพื่อบังคับใช้ด้วย อย่างเช่นล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเพิ่ม “วาฬสีน้ำเงิน” เป็นสัตว์สงวน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ นอกจากนี้ยังเร่งกำหนดมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองวาฬบรูดาจากกิจกรรมท่องเที่ยว พร้อมสำรวจติดตามแหล่งหญ้าทะเล ยกระดับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงยังการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะทะเลภายใต้โครงการความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ มาตรการหรือแนวทางเหล่านี้ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่ตนเชื่อว่าเครื่องมือที่สำคัญ จำเป็น และดีที่สุด ก็คือ “พวกเราทุกคน” รวมพลังร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่ใช่แค่วันนี้ แต่ทำได้ทุกวัน เริ่มต้นที่ตัวเรา ขณะที่ นายอภิชัย เปิดเผยว่าวันทะเลโลกปีนี้ ทช. อยากชวนทุกคนมารวมพลัง ร่วมกันเปลี่ยน พลิกฟื้น คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเลไทย ให้ทุกคนช่วยกันปกป้องรักษาทะเล พร้อมทั้งย้ำเตือนว่าหากใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่รู้คุณค่า จะทำให้เกิดผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปรวน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยทางทะเล ในอนาคตทั่วโลกจะต้องเผชิญผลกระทบจากทะเลอย่างหนัก ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมง ชุมชนชายฝั่ง และประชากรโลก อีกทั้งปัญหาขยะในทะเลก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล จากการสำรวจของ กรม ทช. พบว่าปัญหาในท้องทะเลส่วนใหญ่มาจากขยะพลาสติกที่อยู่บนบกที่ไหลลงสู่ทะเล รวมถึงขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยว สัตว์ทะเลหายากได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติก เราจึงต้องรณรงค์ลดการใช้ขยะพลาสติก โดยหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ต้อง เที่ยวไม่ทิ้ง ทิ้งให้ลงถัง หรือนำกลับไปรีไซเคิล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้รักษ์โลก รักษ์ทะเล โดยถือเอาวันทะเลโลก เป็นจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์ หวงแหนท้องทะเลไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเร่งรัดการดำเนินการด้านการอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งเพื่อคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศทางทะเลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ในระยะที่ผ่านมาได้มีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่คุ้มครองที่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง และกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568 การบริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งมีชีวิต สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ และทรัพยากรทางทะเลของไทย อย่างไรก็ตาม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ในนามของผู้แทนสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะทะเล ภายใต้โครงการความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ ตนมองว่าที่ผ่านมา ทส. โดย ทช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะทะเลมาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหาขยะทะเลให้เกิดความยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นแนวทาง การทำงานภาครัฐแนวใหม่ที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาขยะทะเล ซึ่งในปัจจุบันมีภาคเอกชนที่ร่วมลงนามในบันทึกเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือ ทั้งนี้ในการจัดการขยะทะเลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งนับได้ว่าเป็นภาคีเครือข่ายกลุ่มแรกที่เข้าร่วมโครงการฯ กับภาครัฐ และเนื่องในโอกาสวันทะเลโลก 8 มิ.ย. 66 นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะเปิดตัวการดำเนินงานโครงการความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมในการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน อันจะนำไปสู่การขยายผลความสำเร็จของการดำเนินงานไปยังภาคเอกชนอื่นๆ ต่อไป